6 วิธีกำจัด หนอนกอกล้วย, ด้วงงวงกล้วย สาเหตุทำกล้วยยืนต้นเหลืองตายพราย อย่างได้ผล
หนอนกอกล้วย และ ด้วงงวงกล้วย เป็นศัตรูประจำสวนกล้วยทุกชนิด และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กล้วยมีอาการใบเหลืองแห้ง จากใบยอดสู่ใบล่าง กาบใบซีดเหลือง ต้นเน่าแห้งเป็นสีน้ำตาลและยืนต้นตายพราย จากต้นที่ 1 สู่ ต้นที่ 2 -3-4-5 และลุกลามบานปลายไปอีกอย่างรวดเร็ว หากไม่เร่งจัดการ ความเสียหายจะบังเกิดกับต้นกล้วยได้แบบยกสวนภายในเวลาไม่นาน โดยเฉพาะในสภาพอากาศที่มีฝนตกชุก สวนรก และมีความชื้นสะสมอยู่ในดินมาก ยิ่งจะกลายเป็นตัวช่วยส่งเสริมการแพร่กระจายพันธุ์ของศัตรูกล้วยทั้ง 2 ชนิดนี้ให้เติบโตได้เร็วยิ่งขึ้น เนื่องจากจะไม่สามารถแก้อาการต้นกล้วยได้ เพราะถูกตัดท่อน้ำ ท่ออาหาร และระบบราก จนไส้เน่าดำเสียหาย ซึ่งกว่าเกษตรกรจะรู้ตัวว่ากล้วยถูกหนอนกอ และ ด้วงงวงทำลายต้นกล้วยก็มีอาการใบเหลืองจนยืนต้นตาย จนต้องขุดถอนทำลายทิ้งเพียงอย่างเดียว เพื่อตัดวงจร
หนอนกอกล้วย(ด้วงงวงเจาะลำต้นกล้วย)
หนอนกอกล้วยเป็นตัวอ่อนของ ด้วงงวงเจาะลำต้นกล้วย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Odoiporus longicollis (Olivier, 1807) ชื่อสามัญภาษาไทย “ด้วงงวงเจาะลำต้นกล้วย” ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ Banana stem weevil, Banana borer เป็นแมลงปลีกแข็งจำพวกด้วง อยู่ในตระกูล Curculionidae
ลักษณะการทำลายและการกระจายพันธุ์ : โดยตัวเต็มวัยของ หนอนกอกล้วย มีนิสัยชอบวางไข่ตามบริเวณกาบใบกล้วย ในส่วนของลำต้นที่อยู่เหนือพื้นดินขึ้นไปจนถึงประมาณกลางต้น เมื่อฟักออกจากไข่แล้วตัวหนอนตั้งแต่ระยะที่ 1 จะค่อยๆ เจาะกัดกินเข้าลำต้นกล้วยทีละน้อยจนถึงไส้กลางของต้น อาการภายนอกที่สังเกตเห็นได้ด้วยสายตา คือ รอบต้นกล้วยจะเป็นรูพรุนไปทั่ว ทำให้ต้นกล้วยตาย หากเข้าทำลายในระยะใกล้ออกปลีจนถึงตกเครือ จะทำให้เครือหักพับกลางต้น หรือเหี่ยวเฉายืนต้นตาย ตลอดช่วงวงจรชีวิตจะอาศัยอยู่ที่บริเวณลำต้นและตามซอกกาบใบ พบแพร่กระจายพันธุ์ได้หลายพื้นที่ทั่วโลก ได้แก่ ภูฎาน กัมพูชา จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า เนปาล ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ศรีลังกา ไต้หวัน ประเทศไทย และเวียดนาม
สำหรับในประเทศไทยจะพบได้ตามแหล่งปลูกกล้วยภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออก ไม่ค่อยพบในภาคอีสาน มีไส้เดือนฝอย (Steinernema carpocapsae ), Plaesius javanus เป็นศัตรูธรรมชาติ
ด้วงงวงเจาะเหง้ากล้วย
ด้วงงวงเจาะเหง้ากล้วย เป็นด้วงอีกชนิดหนึ่งที่พบเข้าทำลายกล้วยให้ยืนต้นแห้งเหลืองตายพรายได้ โดยมีวงจรชีวิตอาศัยอยู่ บริเวณเหง้ากล้วยและโคนต้น เป็นคนละชนิดกันกับด้วงงวงเจาะต้นกล้วย(แต่มีหน้าตาคล้ายกันมาก) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cosmopolites sordidus(Germar) ชื่อสามัญภาษาไทย “ด้วงงวงเจาะเหง้ากล้วย” ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ Banana root borer อยู่ในตระกูลเดียวกันกับ หนอนกอกล้วย หรือ ด้วงงวงเจาะลำต้นกล้วย คือ Curculionidae
ลักษณะการเข้าทำลายและการแพร่กระจายพันธุ์ : ตลอดระยะของตัวหนอนจะอาศัยเจาะกัดกินชอนไชอยู่ในเหง้ากล้วย ใต้ระดับดินโคนต้น ไม่สามารถสังเกตให้ได้ง่ายด้วยตาเปล่า เพราะการทำลายโดยภายนอกไม่สามารถสังเกตเห็นได้ชัด เมื่อผ่านไปสักระยะหนึ่งจะสามารถสังเกตเห็นอาการของพืชที่ถูกทำลายได้ผ่านทางที่จะแสดงอาการเหลือง เหี่ยว ทะยอยแห้งตาย เหมือนโดนเชื้อราเข้าทำลาย จากนั้นลำต้นจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลจากกาบนอกสุดเข้าด้านใน จนในที่สุดต้นกล้วยจะเน่าเหี่ยวเป็นสีน้ำตาลทั้งหมด ซึ่งส่วนยอดและต้นจะแห้ง เหี่ยวตายในเวลาไล่เลี่ยกัน โดยในระยะตัวหนอนของด้วงชนิดนี้จะเข้าทำลายเหง้ากล้วยทำให้ระบบการส่งน้ำ และอาหารจากพื้นดินขึ้นไปเลี้ยงลำต้นขาดตอนหยุดชะงักไป เมื่อเป็นมากๆ หรือมีหนอนแค่เพียง 5 ตัวต่อ 1 เหง้า ก็สามารถทำให้กล้วยตายได้ และถ้ามีแมลงติดไปกับหน่อกล้วยที่ปลูกใหม่ก็จะทำให้หน่อใหม่แห้ง เน่า ตายก่อนที่จะให้เครือด้วยเช่นกัน
โดยแมลงจะอาศัยอยู่บริเวณรากและโคนต้น พบในแหล่งปลูกกล้วยจังหวัดนนทบุรี ฉะเชิงเทรา ราชบุรี นครปฐม กำแพงเพชร สุโขทัย ปราจีนบุรี และนครนายก
6 วิธีกำจัด หนอนกอกล้วย และ ด้วงงวงเจาะเหง้ากล้วย
- รักษาความสะอาดของแปลงปลูก เป็นสิ่งแรกที่ควรทำเป็นประจำสม่ำเสมอ โดยการหมั่นตัดแต่งใบกล้วย และกาบใบนำออกไปเผา ฝัง หรือ ทำเป็นปุ๋ยหมัก รวมถึงไม่ควรทิ้งซากต้นกล้วย หรือตอกล้วยที่ตัดทิ้งหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตไว้ในแปลงด้วย การตัดแต่งต้นกล้วยที่เก็บเกี่ยวเครือแล้วออกเป็นท่อนๆ ชิ้นเล็กๆ แล้วหงายรอยตัดขึ้นจะทำให้ชิ้นส่วนต้นกล้วยนั้นแห้งเร็วและ ไม่เป็นที่หลบซ่อนและแหล่งอาหารของตัวเต็มวัย
- หน่อกล้วยพันธุ์ต้องปลอดโรคแมลง เพื่อเป็นการป้องกันชักนำการแพร่ระบาดในแปลง หลังขุดแยกหน่อกล้วยออกจากต้นแม่แล้ว ควรนำออกจากแปลงปลูกทันที ไม่ควรทิ้งไว้คาหลุม หรือทิ้งไว้ในแปลงข้ามคืนเพื่อป้องกันตัวเต็มวัยชองแมลงเข้ามาวางไข่ เมื่อขุดหน่อหรือตัดต้นแล้ว ควรจะใช้ดินกลบด้วยทุกครั้ง เพื่อป้องกันการเข้าวางไข่ในต้นหรือเหง้าเดิมตรงรอยแผล
- การใช้กับดักต้นกล้วยดักจับตัวเต็มวัย
วิธีการทำ :
3.1.)ใช้ต้นกล้วยที่ตัดเครือแล้ว มาตัดเป็นท่อนๆ ให้มีความประมาณยาว 30 เซนติเมตร แล้วผ่าครึ่งตามแนวยาว
3.2.) นำต้นกล้วยที่ป่าแล้วไปวางคว่ำลงในดิน บริเวณใกล้โคนต้นกล้วย ในลักษณะคว่ำรอยผ่าลงดิน กับดักละ 1 ท่อน ห่างกัน 10 เมตร เพื่อล่อตัวเต็มวัยให้เข้ามาในกับดัก แล้วตรวจจับตัวเต็มวัยที่มาหลบซ่อนใต้ท่อนกล้วยนั้นไปทำลาย เมื่อกับดักท่อนกล้วยเริ่มเหี่ยวให้เปลี่ยนท่อนใหม่เป็นประจำ จะช่วยตัดวงจรแมลง ลดประชากรตัวเต็มวัยแมลงลงไปได้
- ใช้น้ำผสมปูนขาว นำปูนขาว 200 กรัมผสมน้ำเปล่า 10 ลิตร คนให้ละลายแล้วนำไปราดรดกอกล้วย ที่ทำการขุดตัดต้นที่ถูกทำลายออกจนเหลือแต่เหง้าในระดับดิน จะช่วยตัดวงจรการเกิด หนอนกอกล้วย ทำเป็นประจำทุก 7-10 วัน ทำติดต่อกันไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง จึงจะเริ่มเห็นผล
- ใช้สารฆ่าแมลง ฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ราดโคนต้นกล้วยสูงจากพื้นดิน 30 เซนติเมตร และรอบโคนต้น รัศมี 30 เซนติเมตร วิธีนี้จะช่วยป้องกันการเข้าวางไข่ของตัวเต็มวัย ขณะเดียวกันจะช่วยกำจัดหนอนและตัวเต็มวัยที่หลบซ่อนโคนต้นกล้วยได้
- ใช้ยาสูบร่วมกับเชื้อราเมตาไรเซียม โดยใช้ยาสูบจำนวน 1 กิโลกรัมต้มกับน้ำ 10 ลิตร แล้วกรองเอาน้ำต้มที่เย็นไปผสมกับน้ำสะอาด 5 ลิตรแล้วใส่เชื้อราเมตาไรเซียมในอัตรา 500 กรัม หมักทิ้งไว้ 1 คืน แล้วนำน้ำหมักที่ได้ไปราดรดดคนต้นที่พบหนอนด้วงวงเข้าทำลาย(หลังขุดหน่อ ต้นไปทิ้งแล้ว) ในอัตรา 3-5 ลิตรต่อกอ ทุก 7 วัน หรือผสมไปกับระบบน้ำในการให้น้ำเป็นประจำจะลดการแพร่ระบาดลงได้
ทั้งนี้ในการจัดการ หนอนกอกล้วย และ ด้วงงวงเจาะเหง้ากล้วย ควรใช้หลายวิธีผสมผสานกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการกำจัดและตัดวงจรที่เห็นผลผลัพธ์อันดีที่สุด
เขียน/เรียบเรียงโดย : kasetintrend.com
แหล่งอ้างอิง :
http://ippc.acfs.go.th/pest/G001/T011/INS108
http://ippc.acfs.go.th/pest/G001/T011/INS235
https://www.doa.go.th/hort/?p=166
http://www.samutprakan.doae.go.th/html/document/announcenews/230861_3.pdf