โดรนเพื่อการเกษตร เทคโนโลยีทางเลือก ตอบโจทย์การทำงานฟาร์มได้อย่างประหยัดและรวดเร็ว
โดรนเพื่อการเกษตร เป็นเทคโนโลยีที่เริ่มได้รับความนิยมประเทศไทยมากขึ้นทุวัน เพื่อสะดวก ต่อการนำมาใช้จัดการเรื่องการให้ปุ๋ย-สารเคมี ในฐานะที่ประเทศไทยกำลังเดินหน้าเข้าสู่โลกแห่งเทคโนโลยีดิจิทัล 4.0 ซึ่งเป็นยุคที่มุ่งเน้นการนำนวัตกรรมมาใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยทุกภาคส่วนให้ก้าวไกลกว่าทุกยุคที่ผ่านมา เป็นการนำนวัตกรรมต่างๆ เข้ามาประยุกต์ใช้กับภาคการเกษตรแบบหลากมิติครอบคลุมทุกด้าน นวัตกรรมโดรนเพื่อการเกษตรกลับได้รับเสียงตอบรับอันดีจากกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ เพราะได้ทั้งความประหยัด สะดวกสบาย และสนุกสนานในการทำงานไปในคราวเดียวกัน จนเป็นหัวข้อฮอตฮิตติดลมบนในบ้านเรา แบบต้องมีข้อกฎหมายเกี่ยวกับโดรนออกมาควบคุมการใช้งานโดรนทุกรุ่นไม่เว้นแม้แต่โดรนเพื่อการเกษตร ซึ่งในบทความนี้จะไม่เอ่ยถึงเรื่องข้อกฎหมายแต่จะขอแนะนำโดรนในมิติของการนำมาใช้งานในภาคการเกษตร เพื่อให้เข้าถึงข้อมูลประกอบการตัดสินใจจากประสบการณ์จริงและเข้าหาแหล่งจำหน่ายโดรนคุณภาพได้อย่างโดนใจ
วิวัฒนาการของ โดรนเพื่อการเกษตรไทย
โดรน(Drone) ถูกจัดอยู่ในประเภทอากาศยานไร้คนขับ คนในวงการนิยมเรียกขานกันว่า UAV (Unmanned Aerial Vehicle) ส่วนบุคคลทั่วไปเข้าใจว่าเป็นเครื่องบินบังคับขนาดเล็ก ที่ย่อส่วนมาจากเครื่องบินลำใหญ่ โดยจุดเริ่มต้นของเทคโนโลยีนี้ถูกผลิตมาเพื่อใช้กับการทหาร ในงานสอดแนมพื้นที่แวดล้อมข้าศึกไปจนถึงสามารถติดอาวุธเข้าไปถล่มค่ายศัตรูได้ ต่อมามีการพัฒนาเป็นโดรนติดกล้องเพื่อถ่ายภาพในมุมสูง,ตรวจสภาพจราจร,เก็บข้อมูลภูมิศาสตร์และ ใช้ในการส่งสินค้ากันได้แล้ว โดย Amazon เป็นเจ้าแรกในโลกที่ทดลองนำโดรนมาใช้ส่งสินค้าภายในเมืองเดียวกัน แต่ที่น่าตื่นตากว่านั้น ก็คือ การนำโดรนมาใช้เพื่อการเกษตร หรือที่เรียกกันว่า “โดรนเพื่อการเกษตร” ที่กำลังเป็นกระแสในปัจจุบัน และจะกลายเป็นคลื่นลูกใหญ่เข้ามากระเพื่อมวงการเกษตรโลกในอนาคตอันใกล้นี้ด้วย
ศาสตราจารย์ เควิน ไฟร์ซ ผู้เชี่ยวชาญ จากมหาวิทยาลัย รัฐแคนซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทำนายว่าโดรนจะผงาดในภาคการเกษตรมากขึ้นกว่าปัจจุบันอีกหลายเท่าตัว เขาคาดว่ายอดขายในอุตสาหกรรมโดรน 80% จะมาจากภาคการเกษตร ซึ่งเป็นเหตุมาจากแรงงานภาคการเกษตรลดลง และวงการเกษตรนั้นต้องฉีดพ่นสารเคมี อันเกิดผลร้ายต่อสุขภาพของผู้คนมากขึ้น โดรนจึงถูกนำมาใช้งานในภาคการเกษตรด้วยวัตถุประสงค์หลักดังกล่าวนี้ ทั้งนี้ ในต่างประเทศได้นำโดรนไปใช้ทำเกษตรสักพักหนึ่งแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการนำมาใช้พ่นปุ๋ย พ่นยา หรือ หว่านเมล็ดพันธุ์พืชก็ดี ประสิทธิภาพการใช้งานโดรนแทนแรงงานคนในเรื่องนี้นั้นให้ผลคุ้มค่าเกิน 90%
สำหรับในประเทศไทยช่วงปี พ.ศ.2558 – 2560 ที่ผ่านมา ตื่นตัวเรื่องโดรนกันมากมีการนำโดรนมาใช้เพื่อความบันเทิงอย่างแพร่หลาย ซึ่งต่อมานักวิจัยของไทยได้จับโดรนเหล่านั้นมาเป็นต้นแบบพัฒนาโดรนเพื่อการเกษตร จนกลายเป็นนวัตกรรมที่เกษตรกรสามารถสัมผัสและนำไปใช้ได้จริงจากการพัฒนาโดรนแบบประกอบเอง ผลงานวิจัยของนักวิชาการผู้ชำนาญงานภาครัฐฯ ที่ได้ทำการทดลองวิจัยและพัฒนากันขึ้นมาจนได้เป็นโดรนตัวต้นแบบ ที่มีราคาย่อมเยากว่าโดรนนำเข้าจากต่างประเทศ สนนราคาขายกันอยู่ที่ลำละประมาณ 300,000 – 500,000 บาทไทย หลังจากมีการเผยแพร่นวัตกรรมโดรนเพื่อการเกษตรสู่สาธารณะชน ได้มีบริษัทเอกชนสนใจนำไปต่อยอดผลิตจำหน่ายภายในประเทศ เพื่อรองรับการทำเกษตรแบบแม่นยำ กับระบบ Smart Farming ที่จะช่วยลดปัจจัยหรือต้นทุนการผลิตแล้ว
ด้านกรมวิชาการเกษตร โดย นายวีระ สุขประเสริฐ วิศวะกรการเกษตร ชำนาญการพิเศษ สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม จากกรมวิชาการเกษตร โทร.08-9226-0291 ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโดรนตัวต้นแบบที่เพิ่งได้รับรางวัลการันตรีคุณภาพ “รางวัลชนะเลิศ การประกวด UAV 2017 ด้านการเกษตรโดย วช.” ในปีที่ผ่านมาว่า อากาศยานไร้คนขับพ่นสารพิษ คือ หุ่นยนต์ชนิดหนึ่ง เป็นเทคโนโลยีเพื่อรองรับยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 โดยสถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม ภายใต้การนำของ ดร.วราภรณ์ พรหมพจน์ ได้เร่งดำเนินการวิจัยและพัฒนาโดรนเพื่อการเกษตรเป็นเครื่องต้นแบบสำเร็จในปลายปี พ.ศ.2559 ซึ่งใช้เวลาในการพัฒนา 1 ปี ระหว่างการทำเครื่องต้นแบบได้มีการนำไปทดสอบในแปลงเกษตร เน้นพัฒนาการใช้ด้านเกษตรอินทรีย์ สามารถฉีดพ่นสารชีวภาพ เช่น บีที ปุ๋ยชีวภาพ น้ำส้มควันไม้ ปุ๋ยและฮอร์โมนพืชต่างๆ ได้ดี มีความง่ายในการควบคุมบังคับ มีคุณสมบัติเด่น ได้แก่
- เป็นโดรนแบบมัลติโรเตอร์
- ควบคุมการทำงานด้วยรีโมทร่วมกับไมโครคอนโทรลเลอร์ 32 บิต และไจโร 6 แกน
- ใช้ต้นกำลังจากแบตเตอรี 16,000 มิลิแอมป์
- มีระยะห่างแกนมอเตอร์ใบพัด 90 เซนติเมตร
- บรรจุสารได้ครั้งละ 4 ลิตร
- หน้ากว้างในการฉีดพ่น 5 – 3.0 เมตร
- ความสูงที่เหมาะต่อยอดพืชเป้าหมาย 5 – 2.5 เมตร
- ขนาดกว้าง 100 x ยาว 160 x สูง 50 เซนติเมตร
- น้ำหนักเครื่อง 5 กิโลกรัม
- ราคาระบบ Manual อยู่ที่ 1.5 – 1.7 แสนบาท / ระบบ Auto ประมาณ 2 แสนบาท
ซึ่งรุ่นนี้จะมีสองรูปแบบ ในการบังคับคือแบบ Manual และ Auto แบบ Manual จะบังคับเหมือนกับการเล่นเกมส่วนแบบ Auto ผู้ใช้งานจะต้องมีความรู้เรื่องระบบจึงจะทำงานได้ราบรื่น โดยในส่วนของเกษตรกร แนะให้ใช้แบบ Manual จะเหมาะสมต่อการทำงานมากกว่า เพราะควบคุมง่ายๆ ได้ด้วยมือ และมีราคาถูกกว่าด้วย สำหรับสมรรถภาพของเครื่องนี้ จะทำงานเสร็จภายใน 3-4 นาที ต่อไร่ ใน 1 วัน จึงทำงานได้ประมาณ 40- 50 ไร่ต่อวัน
หรือ จะกล่าวสั้นๆ ก็ได้ว่านี่เป็น “โดรนพ่นสารอินทรีย์รุ่น 50 ไร่” สำหรับหลักในการทำงานก็คือ เมื่อฉีดพ่นน้ำยาหมดแล้วก็บินกลับมาเติมสารใหม่แบบนี้เวียนวนไป ละอองการฉีดพ่นด้วยเครื่องโดรน จะมีความฟุ้งกระจายเลื่อมล้ำและเข้าถึงใต้ใบพืชได้ดีกว่าการใช้เครื่องฉีดพ่นยาทั่วไป ทั้งยังไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้งานอีกด้วย
ดร.ไชยวัฒน์ กล่ำพล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมการบินและอวกาศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนึ่งในทีมงานนักวิจัยนวัตกรรมเพื่อการเกษตรที่จะนำผลงาน “โดรน” ที่พัฒนาต่อยอดมาใช้เพื่อการเกษตรมาแสดงโชว์ในงานวันเกษตรแห่งชาติ ปี 2561 ณ มก. บางเขน กล่าวว่า “โดรนตัวนี้ได้รับการพัฒนาต่อยอดมาจากเฮลิคอปเตอร์บังคับคันที่นำไปแข่ง UAU ชิงแชมป์โลกที่ออสเตรเลีย เป็นเครื่องบินทำภาระกิจกู้ภัยสำรวจในส่วนที่คนหรือเครื่องจักรเข้าไปไม่ถึง ต้องบินไปสำรวจหาผู้ประสบภัยไกล 30 กม. แล้วลงจอดเก็บตัวอย่างเลือดก่อนจะบินกลับมา เป็นตัวต้นแบบของโดรนเพื่อการเกษตร ส่วนโดรนการเกษตรตัวพ่นยานั้นได้รับการดัดแปลงมาจากตัวต้นแบบ ต่อยอดโดยความร่วมมือกับกรมอุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่า การทำงานของโดรนพ่นยาจะเป็นเฮลิคอปเตอร์เหมือนกับตัวต้นแบบ แต่มีการออกแบบใบพัดพิเศษ ปรับรูปร่างพิเศษ เพื่อให้สามารถบรรทุกได้มากขึ้นโดยใช้แบตเตอรี่เท่าเดิมหรือน้อยลง ด้วยลักษณะใบพัดพิเศษและรูปทรงที่ดัดแปลงใหม่นี้จึงสามารถพ่นน้ำยาให้กระจายได้ฟุ้งกว่าปกติ กับรุ่นขนาดถังบรรจุ 10 ลิตรที่นำมาจัดแสดงโชว์นี้ ต่อไปจะพัฒนาให้ใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับพื้นที่ขนาดใหญ่ บังคับการบินด้วยโปรแกรมอัตโนมัติกำหนดตามทิศทางได้ว่าจะไปทางไหนระยะทางเท่าใด ด้วยระบบการทำงานที่ไม่ซับซ้อน จึงบังคับง่าย
ซึ่งฝูงบินอากาศยานอัตโนมัติเพื่อภารกิจฝนหลวงและการบินในครั้งนี้ จะเริ่มตั้งแต่การสำรวจดูสุขภาพพืช ทำแผนที่จากภาพถ่ายในอากาศ เพื่อทำการสำรวจพื้นที่แปลงเกษตรก่อน พอได้ข้อมูลตรงนั้นแล้วก็จะมีส่วนอากาศยานของการให้ปุ๋ยแบบแม่นยำ เพื่อทำการเกษตรแบบแม่นยำตามรูปแบบ Smart Farming ซึ่งเป็นโดรนตัวนี้ เป็นตัวให้สารได้อย่างแม่นยำ โดยอิงจากข้อมูลความสมบูรณ์ของพืช และต่อไปจะเป็นงานต่อยอดที่ Advance มากขึ้น ตอนนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบเพื่อให้ง่ายต่อการใช้งานในระดับบุคคลทั่วไป ให้สามารถนำไปใช้สำรวจเรื่องโรคแมลง ด้วยราคาที่ไม่สูงมาก หรือ ประมาณ 2.5 แสนบาท หากท่านใดสนใจจะนำไปใช้งานจริงสามารถติดต่อสอบถามเป็นการส่วนตัวได้ที่ Facebook : Isaaclab.aeroku หรือ โทร.08-4309-1926
เรื่อง/ภาพโดย : Kasetintrend.com