เลี้ยงปลาดุก 21 เรื่องที่ผู้เลี้ยงควรต้องรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงและพันธุ์ปลาดุกไทย
การ เลี้ยงปลาดุก ได้รับความนิยมเลี้ยงกันอย่างแพร่หลายไม่ใช่แค่ในประเทศไทย จากการศึกษาของสถาบันคลังสมองของชาติ ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เมื่อปี 2558 เคยรายงานไว้ว่า ปลาดุกเป็นชนิดสัตว์น้ำที่มีการเพาะเลี้ยงในเกือบทุกประเทศสมาชิกอาเซียนยกเว้น สปป.ลาว และบรูไน โดยประเทศอินโดนีเซียมีผลผลิตปลาดุกจากการเพาะเลี้ยงมากที่สุด (337.577 พันตัน) รองลงมาคือ ประเทศไทย (45.375 พันตัน) มาเลเซีย (47.778 พันตัน) เวียดนาม (20.00 พันตัน)สหภาพพม่า (7.542 พันตัน) ฟิลิปปินส์ (3.129 พันตัน) กัมพูชา (1.450 พันตัน) และสิงคโปร์ (22 ตัน) และเมื่อพิจารณาถึงมูลค่าของผลผลิตปลาดุกจากการเพาะเลี้ยง อินโดนีเซียมีมูลค่าต่อหน่วยต่ำที่สุด (1.31 เหรียญสหรัฐต่อกิโลกรัม) ถัดมาคือมาเลเซียซึ่งมีมูลค่าต่อหน่วยสูงขึ้นมาเป็น 1.33 เหรียญสหรัฐต่อกิโลกรัม แต่จะต่ำกว่าประเทศไทยที่มีมูลค่าต่อหน่วยของปลาดุกเป็น 1.46 เหรียญสหรัฐต่อกิโลกรัม ซึ่งจากสาเหตุนี้เองจึงมีปลาดุกจากมาเลเซียส่งเข้ามาขายที่ตลาดปลาดุกในประเทศไทยด้วยราคาที่ถูกกว่า เวียดนามมีมูลค่าต่อหน่วยสูงกว่ามาเลเซีย (1.50 เหรียญสหรัฐต่อกิโลกรัม) แต่ใกล้เคียงกับมูลค่าผลผลิตจากกัมพูชา สหภาพพม่ามีมูลค่าผลผลิตปลาดุกต่อหน่วย 1.40 เหรียญสหรัฐต่อกิโลกรัม ฟิลิปปินส์ 2.11 เหรียญสหรัฐต่อกิโลกรัม และ สิงคโปร์2.43 เหรียญสหรัฐต่อกิโลกรัม ประเทศไทยอาจมีช่องทางส่งออกปลาดุกไปประเทศทั้งสามนี้ซึ่งยังมีผลผลิตน้อยและคาดว่าต้นทุนการผลิตสูงกว่าไทย
ผลผลิตจากการเพาะ เลี้ยงปลาดุก ในประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับสองรองจากผลผลิตปลานิล โดยคิดเป็นร้อยละ 27 (โดยประมาณ) ของผลผลิตจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในประเทศไทย พื้นที่การเพาะเลี้ยงจำนวนผู้เลี้ยง และผลผลิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สถานการณ์ปัจจุบันมีพื้นที่เพาะเลี้ยงปลาดุก 96,675.72 ไร่ และมีเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลาดุก 49,384ราย (ข้อมูลจากระบบภูมิสารสนเทศประมง (Fisheries Map) ณ วันที่ 31สิงหาคม 2561) รูปแบบการเลี้ยงส่วนใหญ่เป็นการเลี้ยงปลาดุกในบ่อดิน ต่อมาได้ดัดแปลงใช้ แผ่นพลาสติกปูพื้นก้นบ่อ และมีการเลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์(ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดสตูล,กรมประมง 2563)
ปัจจุบันปลาดุกมีการเลี้ยงกันหลายพื้นที่เพราะเป็นปลาที่มีความอดทน เลี้ยงง่าย เจริญเติบโตเร็วต้านทานโรคและสภาพแวดล้อมได้ดี จึงนับว่าเป็นปลาที่ยังเป็นที่ต้องการของตลาด เพราะราคาไม่แพงและทำอาหารได้หลากหลายเมนู ปลาดุกมีหลากหลายสายพันธุ์ เช่น ปลาดุกอุย ปลาดุกยักษ์ หรือปลาดุกรัสเซียปลาดุกบิ๊กอุย ซึ่งการเลือกพันธุ์เลี้ยงก็ขึ้นอยู่กับคนในพื้นที่ว่านิยมสายพันธุ์ใด ดังนั้นก่อนทำการผลิตควรจะมีการเรียนรู้ ทำความเข้าใจและเข้าใจถึงธรรมชาติการเลี้ยงดูปลาดุกให้ดีเสียก่อน เพื่อลดปัญหาอุปสรรค์ และประสบความสำเร็จในการเลี้ยงปลาดุก ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงปลาดุกในบ่อดิน บ่อซีเมนต์ หรือ ในกระชัง ก็ตาม ด้วย
21 เรื่องที่ผู้เลี้ยงควรต้องรู้เกี่ยวกับการ เลี้ยงปลาดุก มีดังนี้
1. ปลาดุกชอบหากินตามหน้าดิน มีนิสัยว่องไว สามารถจะขึ้นมาอยู่บนบกได้ทนนานกว่าปลาชนิดอื่นๆ รวมถึงสามารถที่จะอาศัยอยู่ในดิน โคลน เลน และในน้้ำที่มีปริมาณออกซิเจนต่ำได้นาน เนื่องจากมีอวัยวะพิเศษช่วยในการหายใจ
2. อาหารที่ปลาดุกชอบกิน ส่วนมากเป็นอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ แต่ถ้านำมาเลี้ยงในบ่อก็สามารถฝึกให้กินอาหารจำพวกพืชได้รวมถึงสามารถฝึกนิสัยให้ปลาดุกขึ้นมากินอาหารบริเวณผิวน้ำแทนการหาอาหารกินตามหน้าดินได้ด้วย
3. เมื่อปลาดุกฟักไข่ออกมาเป็นตัว ลูกปลาดุกจะใช้อาหารจากถุงไข่แดงซึ่งติดอยู่ด้านหน้าท้องของลูกปลา ประมาณ 1 – 2 วันถุงไข่แดงจะยุบลง จำเป็นต้องมีการหาอาหารจากสภาพแวดล้อมกิน ผู้เลี้ยงลูกปลาดุกจำเป็นต้องให้อาหารที่งมีปริมาณของโปรตีนสูงในการเลี้ยงดู ได้แก่ ไข่แดงต้มสุก ไรแดง หรืออาหารผสม ต่อมาเมื่อปลาโตขึ้นสามารถที่จะปล่อยลงสู่บ่อเลี้ยงได้
4.อาหารหลักที่ใช้ในการเลี้ยงปลาดุก ได้แก่ ปลาเป็ดสับบดละเอียดผสมกับรำ หรือ เนื้อสัตว์บดละเอียด อาหารผสมอัดเม็ดลอยน้ำ สามารเลี้ยงจนกระทั่งจับปลาดุกขายได้ แต่ในธรรมชาติลูกปลาดุก จะกินอาหารจำพวกโปรโตซัว ไรน้ำขนาดเล็ก โรติเฟอร์และแพลงค์ตอนพืช ปลาดุกที่มีขนาดโตขึ้นจะกินอาหารจำพวกตัวอ่อนของแมลง ลูกกุ้ง ลูกปู หนอนและอินทรีย์สารที่อยู่ตามพื้นโคลน นอกจากนี้ยังสามารถฝึกให้กินอาหารสมทบทั้งประเภทจมน้ำ หรืออาหารชนิดเม็ดลอยน้้ำได้ซึ่งมีส่วนผสมของอาหารประเภทปลายข้าว รำ กากถั่ว ปลาป่น เป็นต้น
5. ปลาดุกกินอาหารได้ทั้งพืชและสัตว์ มีนิสัยชอบหาอาหารกินในเวลากลางวัน ตามบริเวณพื้นก้นบ่อและจะขึ้นมากินอาหารบริเวณพื้นผิวน้ำเป็นบางขณะ และชอบกินพวกเศษเนื้อที่กำลังสลายตัว ชอบกินอาหารจำพวกเนื้อสัตว์มากกว่าอาหารจำพวกพืชหรืออาหารจำพวกแป้ง
6. ก่อนจะ เลี้ยงปลาดุก ให้พิจารณาเรื่องการตลาดก่อนว่าเมื่อเลี้ยงแล้วจะจำหน่ายให้ใครบริเวณพื้นที่นั้นคนส่วนใหญ่กินปลาอะไร กินปลาขนาดใหญ่หรือเล็ก ไม่ควรเลี้ยงตามใจตัวเอง ต้องดูตามตลาดที่ต้องการ และพิจารณาอาหารที่จะให้ปลากิน ในพื้นที่มีพอไหม สะดวกกับการจัดการของเราหรือเปล่า และที่สำคัญคือ เรื่องเงินทุนว่ามีสำรองเพื่อซื้อเหยื่อจนกว่าปลาจะจำหน่ายได้หรือไม่
7. การจะ เลี้ยงปลาดุก ให้ประสบผลสำเร็จ จะต้องมีการเตรียมบ่อที่ดี มีการเตรียมสีน้ำ อุปกรณ์ เครื่องใช้ สะอาดปลอดจากเชื้อโรค ซื้อพันธุ์ปลาดีมีคุณภาพจากแกล่งที่เชื่อถือได้ มีอัตราการปล่อยปลาเหมาะสม การให้อาหารปลานั้นมีสารอาหารครบถ้วน และเพียงพอ ให้แต่ละครั้งอาหารไม่เหลือตกค้างและมีการจัดการคุณภาพน้ำเหมาะสมตลอดการเลี้ยง
8. การเตรียมบ่อดินใหม่ มักมีปัญหาเรื่องดินเป็นกรด ให้โรยปูนขาว 60-100 กิโลกรัม/ไร่ ควรจะคลุกปูนขาวให้ผสมกับหน้าดินลึกประมาณ 5 ซม. ให้ทั่วพื้นบ่อและขอบบ่อ ใส่ปุ๋ยคอกประมาณ 100 กิโลกรัม/ไร่ โรยให้ทั่วบ่อ สูบน้ำเข้าบ่อจนได้ระดับน้ำ 30-40 ซม. ทิ้งไว้ 3-5 วัน จนน้ำเป็นสีเขียว ถ้าภายใน 3-5 วัน น้ำไม่เป็นสีเขียวให้เติมปุ๋ยสูตร 15-15-15 ในอัตรา 5-10 กิโลกรัม/ไร่ ละลายน้ำสาดให้ทั่วบ่อ
9. ก่อนการปล่อยปลา ควรตรวจวัดความเป็นกรด- ด่างของน้ำในบ่อ ซึ่งควรอยู่ระหว่าง 7-8.5 ถ้าค่าต่ำกว่า 7 ควรนำปูนขาวละลายน้ำสาดให้ทั่วบ่อเพื่อปรับให้อยู่ในช่วง 7-8.5 ระวังอย่าให้เกิดแมลงหรือศัตรูปลา หากมีปลาที่เป็นศัตรูของลูกปลาเหลืออยู่ ให้ใช้กากชา 10-15 กิโลกรัม/ไร่แช่น้ำไว้ 1 คืน นำส่วนที่เป็นน้ำสาดให้ทั่วบ่อ เก็บปลาที่ตายขึ้นมา และทิ้งไว้ 2-3 วัน เพื่อให้กากชา สลายตัวหมดก่อนที่จะปล่อยลูกปลา และควรกั้นอวนมุ้งรอบ ๆ บ่อเพื่อป้องกันศัตรูปลาอื่น ๆ
10. การเตรียมบ่อเก่า ควรทำความสะอาดบ่อโดยการลอกเลนออกให้มากที่สุด และปรับแต่งคันบ่อให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ ใส่ปูนขาวให้ทั่วบ่อ เพื่อฆ่าเชื้อโรค และปรับความเป็นกรด- ด่างของดิน ในอัตรา 60-100 กิโลกรัม/ไร่ ตากบ่อให้แห้ง 10-15 วัน นำปุ๋ยคอกใส่ถุงแขวนไว้ตามมุมบ่อประมาณ 100 กิโลกรัม/ไร่ เพื่อเตรียมอาหารธรรมชาติให้ลูกปลา เติมน้ำ 30-40 ซม. ทิ้งไว้ 3-5 วัน จนน้ำเป็นสีเขียว แล้วจึงปล่อยปลา ก่อนปล่อยลูกปลา ควรตรวจวัดความเป็นกรด-ด่างของน้ำ ถ้ามีค่าไม่ถึง 7 ควรนำปูนขาวละลายน้ำสาดให้ทั่วบ่อ เพื่อปรับให้อยู่ระหว่าง 7-8.5 ตรวจดูในบ่ออีกครั้งว่ามีแมลงหรือไม่ หากพบแมลงให้ใช้ดิพเทอร์เร็กซ์ 0.25 กรัม/น้ำ 1 ลูกบาศก์เมตร สาดให้ทั่วบ่อ หรือใช้น้ำมันดีเซลสาดให้ทั่วบ่อในอัตรา 3 ลิตร ต่อบ่อ 1 ไร่ กรณีบ่อมีน้ำขัง ไม่สามารถตากบ่อให้แห้งได้ ให้ฆ่าปลาที่เป็นศัตรูของลูกปลาด้วยไซยาไนด์ 3 – 5 กรัม /น้ำ 1 ลูกบาศก์เมตร หรือกากชา 10 – 15 กิโลกรัม/ไร่ ที่ระดับน้ำ 50 ซม. ทิ้งไว้ 2 – 3 วัน
11. การปล่อยปลาดุกอุย ขนาด 2-3 ซม. เลี้ยงในบ่อดินควรใช้อัตราการปล่อยค่อนข้างหนาแน่น ประมาณ 10-20 ตัวต่อตารางเมตรหรือ 16,000-32,000 ตัวต่อไร่ หรืออาจมากกว่านี้ ตามความหนาแน่นที่พอเหมาะ นอกจากจะหวังผลในแง่ของผลผลิตต่อไร่แล้วยัง มีผลต่อการกินอาหารของปลาในบ่อมาก เพราะลูกปลาจะเหนี่ยวนำพากันกินอาหารได้ดี
12.การปลาดุกรัสเซีย ขนาด 2-3 ซม. จะใช้พันธุ์ปลาประมาณ 30,000 ตัว / ไร่ เป็นปริมาณที่อยู่ในระดับกลางๆ ไม่บางหรือหนาแน่นเกินไป ส่วนอัตรารอดจะขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดู และอาหาร
13. การปล่อยปลาดุกลูกผสมบิ๊กอุย ใช้ลูกปลาขนาด 2-3 ซม. ควรปล่อยในอัตราประมาณ 40 – 100 ตัว / ตรม. ซึ่งขึ้นอยู่กับกรรมวิธีในการเลี้ยงคือ ชนิดของอาหาร ขนาดของบ่อและระบบการเปลี่ยนถ่ายน้ำ ปกติทั่วๆไป อัตราปล่อยเลี้ยงจะอยู่ที่ 50 ตัว /ตรม. และเพื่อป้องกันโรคซึ่งอาจจะติดมากับลูกปลา ควรใช้น้ำยาฟอร์มาลินใส่ในบ่อเลี้ยง อัตราความเข้มข้นประมาณ 30 ส่วนในล้าน (3 ลิตร/น้ำ 1000 ตัน)
14.ในวันที่ปล่อยลูกปลา ไม่จำเป็นต้องให้อาหารควรเริ่มให้อาหารในวันรุ่งขึ้น
15. การให้อาหารช่วงลูกปลาดุกมีขนาดเล็ก (2-3 ซม. ) ควรให้อาหารผสมคลุกน้ำปั้นเป็นก้อนให้ลูกปลากิน โดยให้กินวันละ 2 ครั้ง หว่านให้กินทั่วบ่อโดยเฉพาะในบริเวณขอบบ่อ เมื่อลูกปลามีขนาดโตขึ้นความยาวประมาณ 5-7 ซม.สามารถฝึกให้กินอาหารเม็ดได้ หลังจากนั้นเมื่อปลาโตขึ้นจนมีความยาว15 ซม.ขึ้นไป จะให้อาหารเม็ดเพียงอย่างเดียวหรืออาหารเสริมชนิดต่าง ๆ ได้ เช่น ปลาเป็ดผสมรำละเอียด อัตรา 9 : 1 หรือให้อาหารที่ลดต้นทุน เช่น อาหารผสมบดจากส่วนผสมต่างๆ เช่น กระดูกไก่ ไส้ไก่ เศษขนมปัง เศษเส้นหมี่ เศษเลือดหมู เลือดไก่ เศษเกี้ยว หรือเศษอาหารว่างๆ เท่าที่สามารถหาได้นำมาบดรวมกินแล้วผสมให้ปลากินแต่การให้อาหารประเภทนี้จะต้องระวัง เรื่องคุณภาพของน้ำในบ่อเลี้ยงให้ดี เพราะจะเน่าเสียได้ง่าย
16.การควบคุมระดับน้ำในบ่อ เมื่อเริ่มเลี้ยงใหม่ๆ ควรให้มีระดับความลึกของน้ำประมาณ 30 – 40 ซม. เมื่อลูกปลาเติบโตขึ้นในเดือนแรกจึงเพิ่มระดับน้ำสูงเป็นประมาณ 50 – 60 ซม. หลังจากย่างเข้าเดือนที่สองควรเพิ่มระดับน้ำให้สูงขึ้น 10 ซม./อาทิตย์ จนระดับน้ำในบ่อมีความลึก 1.20 – 1.50 เมตร
17.การถ่ายเทน้ำ จะช่วยกระตุ้นให้ปลาดุกมีการเตอบโตดีขึ้น โดยควรเริ่มตั้งแต่การเลี้ยงผ่านไปประมาณ 1 เดือน โดยถ่ายน้ำประมาณ 20 % ของน้ำในบ่อ 3 วัน/ครั้ง หรือถ้าน้ำในบ่อเริ่มเสียจะต้องถ่ายน้ำมากกว่าปกติการป้องกันคุณภาพน้ำในบ่อเน่าเสีย ให้สังเกตว่าเมื่อปลาหยุดกินอาหารจะต้องหยุดให้อาหารทันทีเพราะปลาดุก โดยเฉพาะบิ๊กอุยมีนิสัยชอบกินอาหารที่ให้ใหม่ที่ถึงแม้จะกินอิ่มแล้วแต่ถ้ามีการให้อาหารใหม่อีกก็จะคายหรือสำรอกอาหารเก่าทิ้งแล้วกินอาหารให้ใหม่อีก ซึ่งปริมาณอาหาร ที่ให้ไม่ควรเกิน 4 -5 % ของน้้ำหนักตัวปลา หากให้อาหารเกินปริมาณที่ปลาดุกต้องการจะทำให้น้ำเน่าเสียได้ง่ายและจะส่งผลเสียต่อสุขภาพปลาดุก
18. สูตรอาหารปลาดุกอย่างง่ายประหยัดต้นทุน ที่สามารถหาวัตถุดิบได้ในพื้นที่ ทำได้เอง และลดต้นทุนการเลี้ยงได้กว่าร้อยละ 50 มีส่วนผสมของวัตถุดิบ ต่อกการทำอาหารปลาดุก จำนวน 10 กิโลกรัม ดังนี้ ปลาป่น 1 กิโลกรัม,รำอ่อน 5 กิโลกรัม,ข้าวโพดบด 5 กิโลกรัม,ปลายข้าวบด 2 กิโลกรัม
19. ฟอร์มาลีน ช่วยรักษาและป้องกันโรคปลาดุกได้ สำหรับการป้องกัน คือ หลังจากปล่อยปลาลงเลี้ยงแล้ว 3-4 วันควรสาดน้้ำยาฟอร์มาลิน 2-3 ลิตร/ปริมาตร น้ำ 100 ตันและหากปลาที่เลี้ยงเกิดโรคพยาธิภายนอกให้แก้ไขโดยสาดน้ำยาฟอร์มาลินในอัตรา 4 – 5 ลิตร/ปริมาตรน้ำ 100 ตัน
20.แนวทางแก้ปัญหาน้ำในบ่อปลาดุก ถ้าน้ำมีสีดำ หรือขุ่นขาว มีขี้แดดมาก ต้องรีบเปลี่ยนถ่ายน้ำ และให้ใส่ปูนขาว 20 กิโลกรัม/ไร่ กับเกลือ 60 กิโลกรัม/ไร่ ละลายน้ำสาดให้ทั่วบ่อ กรณีฝนตก หรืออากาศแปรปรวนมาก ให้ลดอาหารลงครึ่งหนึ่ง ละลายเกลือ 60 กิโลกรัม/ไร่ และปูนขาว 20 กิโลกรัม/ไร่ สาดให้ทั่วบ่อ
21.การจับปลาจำหน่าย ต้องจับปลาให้ตรงเวลา ไม่ควรเลี้ยงเกินกำหนดเวลาจับ เช่น เลี้ยงเกิน 6 เดือน จะเปลืองค่าอาหารและขาดทุน โดยก่อนจับต้องงดอาหาร 1 วัน ให้ปลาท้องว่างไม่สำรอกในการขนส่ง และลดน้ำในบ่อเหลือแค่ 50 ซม.ควรจับในเวลา เช้า หรือเย็น หลีกเลี่ยงอากาศร้อน ควรติดต่อพ่อค้าและต่อรองเรื่องราคาให้ชัดเจน จากนั้นคัดขนาดปลาหรือบรรจุในลัง 50 กิโลกรัม และในการคิดเงิน ควรมีการหักนํ้าหนักน้ำ 4-5%
พันธุ์ปลาดุกที่นิยมเลี้ยงในประเทศไทย :
สำหรับพันธุ์ปลาดุก ที่นิยมเลี้ยงเป็นการค้าในประเทศไทย มีอยู่ 3 พันธุ์ ด้วยกัน โดยแต่ละพันธุ์จะมีเอกลักษณ์ ความแตกต่างและได้รับความนิยมในการบริโภคไม่เหมือนกัน ในการพิจารณาเลือกเลี้ยงปลาดุกพันธุ์ใด อาจดูจากสภาพแวดล้อมและความต้องการของตลาดท้องถิ่น ประกอบการตัดสินใจก่อนการลงทุน จึงจะทำให้สามารถดูแลจัดการและทำตลาดได้ง่ายขึ้น
1.พันธุ์ปลาดุกอุยหรือปลาดุกนา หรือ ปลาดุกเนื้ออ่อน(ภาคใต้) เป็นปลาที่มีรสชาติอร่อย เนื้อเหนียว ไม่เละ มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมดีมาก แต่มีการเติบโตช้า ใช้เวลาเลี้ยงนาน 8-10 เดือน และน้ำหนักตัวน้อย ขายได้ราคาดี โดยเฉพาะถ้าทำเป็นพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ขาย จะจำหน่ายได้ในราคากิโลกรัมละ 300-400 บาท ส่วนราคาจำหน่ายหน้าบ่อจะอยู่ที่ 50-70 บาทต่อกิโลกรัม
2.พันธุ์ปลาดุกเทศ หรือ ปลาดุกรัสเซีย มีขนาดใหญ่สุด ขนาดเมื่อโตเต็มที่ยาวได้ถึง 1.70 เมตร เป็นปลาพื้นเมืองของทวีปแอฟริกา พบได้ในตอนเหนือและตอนตะวันออกของทวีปถูกนำเข้ามาในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2528 โดยเอกชนบางราย เจริญเตอบโตสูง ราติเนื้อไม่ค่อยอร่อย ไม่ค่อยได้รับความนิยมเนื่องจากมีขนาดใหญ่ และมีเนื้อสีขาว เละ ให้ระยะเวลาการเลี้ยงสั้น 1 ปี สามารถเลี้ยงได้ถึง 3-4 รอบ หากจัดการน้ำดี จะใช้เวลาเลี้ยงเพียงแค่ 3 เดือนครึ่ง ราคาขายหน้าฟาร์มอยู่ที่ 20-30 บาทต่อกิโลกรัม
3.พันธุ์ปลาดุกบิ๊กอุย เกิดจากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่าง ปลาดุกอุยกับปลาดุกรัสเซีย โดยกรมประมง ปลาชนิดนี้มีการเติบโตเร็ว เนื้อมีรสชาติดี ปัจจุบันกลายเป็นปลาเศรษฐกิจที่ได้รับความนิยมในการเพาะเลี้ยงอย่างกว้างขวาง สามารถเลี้ยงได้ในสภาพที่มีความหนาแน่นสูง ทนต่อคุณภาพน้ำที่ต่ำได้ ใช้ระยะเวลาในการเลี้ยง 3-4 เดือน จึงจะจับขายได้ ราคาจำหน่ายหน้าบ่ออยู่ที่ 42-45 บาท ต่อ กิโลกรัม
เขียน/เรียบเรียงโดย : Kasetintrend.com
————————
แหล่งอ้างอิง :
ปลาดุกรัสเซียตลาดกว้าง เลี้ยงปีละ 4 รุ่น
สายพันธุ์ปลาดุกในประเทศไทยที่นิยมเลี้ยง
เอกสารประกอบการฝึกอบรม โครงการพัฒนาศักยภาพกระบวนการผลิตและแปรรูปสัตว์น้ำ ประจำปีงบประมาณ 2563