การปลูกสตรอเบอรี

สตรอเบอรี

สตรอเบอรี เป็นพืชคลุมดิน สกุลเดียวกับกุหลาบ ผลมีรสหวาน-หวานอมเปรี้ยว นิยมปลูกกันอย่างกว้างขวางจากทิศทางของตลาดที่มีความต้องการต่อเนื่อง โดยช่วงที่เกษตรกรจะขายได้ราคาดีสุดคือ ช่วงเดือนธันวาคม-เดือนมกราคม ของทุกปีเนื่องจากเป็นช่วงที่ผลผลิตมีน้อย จังหวัดเชียงใหม่ และ เชียงราย เป็นแหล่งเพาะปลูกสำคัญโดยผลผลิตประมาณ 80% แปรรูปเพื่อจำหน่ายในประเทศและต่างประเทศ ส่วน อีก 20%  เป็นการผลิตเพื่อป้อนตลาดบริโภคผลสด ปัจจุบัน(1 ธ.ค.67) มีราคาจำหน่ายปลีก/ส่งอยู่ที่ 290-480 ต่อกิโลกรัม(สายพันธุ์พระราชทาน 80)

สตรอเบอรี Strawberry: Fragaria ananassa เกิดจากการผสมข้ามระหว่าง F.chiloensis และ F.virginiana อยู่ในวงศ์ Rosaeae วงศ์เดียวกันกับกุหลาบ มีถิ่นกำเนิดในแถบอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ เป็นพืชเขตหนาว อายุ 3 ปี ประกอบด้วย

ลำต้น แตกกอเป็นพุ่มเตี๊ย 6-8 นิ้ว ทรงพุ่มกว้าง 8-12 นิ้ว สูง 6-8 นิ้วขึ้นอยู่กับสายพันธุ์และฤดูปลูก
ส่วนยอดส่วนที่ติดอยู่ระหว่างรากกับใบเรียกว่าเหง้า ซึ่งเป็นลำต้นสั้น ส่วนบนของลำต้นประกอบด้วยหูใบ
ส่วนโคนของหูใบจะมีไหลเจริญออกมา สามารถพัฒนาเป็นต้นอ่อนได้ต่อไป

ใบ เป็นแบบกลุ่มประกอบด้วย ใบย่อย 3 ใบ ขอบใบ มีก้านใบยาว แต่ละต้นจะมีใบมากกกว่า 10 ใบสลับกันแต่ละใบจะมีชีวิตอยู่นาน 1-3 เดือน ปกติจะมีใบใหม่ทดแทนอยู่ตลอดฤดูกาลผลิต

ระบบราก เป็นพืชที่มีระบบรากตื้น เมื่อย้ายปลูกพืชจะสร้างรากที่แข็งแรง ซึ่งจะมีอายุประมาณ 3-4  อาทิตย์ หลังจากนั้นรากที่เจริญขึ้นมาใหม่อาจเป็นแบบกึ่งถาวร มีอายุนานกว่าหนึ่งฤดูปลูก หรืออาจเป็นรากชั่วคราว (อายุ 1-7 วัน) ซึ่งจะเจริญในระดับความลึก 3-6 นิ้ว หรืออาจเจริญลึก 12 ในดินที่ร่วนซุย เนื่องจากเหง้า จะเจริญสูงขึ้น ดังนั้น รากจะเจริญสูงขึ้นเหนือระดับดินตามอายุพืช

ตาดอก เจริญจากตายอด ซึ่งเกิดจากเหง้าที่เจริญขึ้นมาใหม่ เมื่อได้อุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส ช่วงแสงสั้น (ต่ำกว่า 10 ชั่วโมง/วัน) ชักนำให้เกิดการเจริญของดอก แต่ละต้นมีช่อดอก 4-7  ช่อและแต่ละช่อจะมีดอก 5-10  ดังนั้นเกษตรกร จึงควรปลูกช่วงเดือน  ตุลาคม และจะเริ่มเก็บผลผลิตได้ตั้งแต่เดือน  พฤศจิกายน  จนถึงเดือนมีนาคม ของทุกปี

ดอก  ดอกจะมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ และกลีบดอก 5 กลีบ แต่ในดอกขนาดใหญ่อาจจะมีมากกว่านี้ ในอุณหภูมิกลางวัน / กลางคืน สูงกว่า 22  /21 องศาเซลเซียส  ช่อดอกจะชะงักการเจริญ

ผล เป็นแบบผลกลุ่ม  มีเมล็ดอยู่ด้านนอกหรือเปลือกของผล ขนาดของผลขึ้นอยู่กับสายพันธุ์

 สายพันธุ์ : สายพันธุ์สตรอเบอรีมีค่อนข้างมาก ควรเลือกสายพันธุ์ที่มีคุณลักษณะและคุณภาพตามความต้องการของตลาด สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมของแปลงปลูกได้ดี ทนต่อโรค แมลง ให้ผลผลิตสูง โดยทั่วไปพันธุ์ของสตรอเบอรี สามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่คือ

1.Junebearing cultiver เป็นประเภทที่ต้องการอุณหภูมิต่ำช่วงแสงสั้นกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน เช่น พันธุ์พระราชทานเบอร์ 70 เบอร์ 72 และ Nyoho เป็นต้น

2.Everbearing cultiver เป็นประเภทที่ต้องการช่วงแสงยาวกว่า 12 ชั่วโมงต่อวัน ส่วนใหญ่ใช้ในปลูกนอกฤดู เช่นพันธุ์ Ozark beauty , Quinault เป็นต้น

3. Dayneutral cultiver เป็นประเภทที่ออกดอกได้ทั้งสภาพวันสั้นและวันยาว แต่จะมีปัญหาผลิตไหลได้น้อย เช่นพันธุ์Selva, Trista เป็นต้น

พันธุ์สตรอเบอรีในประเทศไทย :

ปัจจุบันในประเทศไทยมีการปลูกสตรอเบอรีเพื่อการค้าหลายพันธุ์ ซึ่งมูลนิธิโครงการหลวงเน้นส่งเสริมการปลูกสตรอเบอรีพันธุ์ที่มีคุณภาพในการรับประทานสด อันได้แก่

1.พันธุ์พระราชทาน 50 พระราชทานเมื่อปี พ.ศ. 2539 ซึ่งเป็นปีฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปีเป็นพันธุ์ที่เกิดจากการผสมในประเทศสหรัฐอเมริกา แล้วนำเข้ามาผสมตัวเองตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2536 สามารถเจริญเติบโตและให้ผลผลิตดีในสภาพอากาศเย็นปานกลาง ทรงพุ่มปานกลางค่อนข้างแน่น ไม่ต้านทานต่อไรแต่ต้านทานราแป้งได้ดี ผลผลิตมีคุณภาพดีโดยเฉพาะใกล้สุกเต็มที่ น้ำหนักต่อผล 12-18 กรัม รูปร่างเป็นลิ่มสีแดงถึงแดงเข้ม เนื้อและผลค่อนข้างแข็ง

2.พันธุ์พระราชทาน 70 พระราชทานเมื่อปี พ.ศ. 2540 ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระชนมพรรษาครบ 70 พรรษา เป็นสายพันธุ์จากประเทศญี่ปุ่น ใบมีลักษณะกลมใหญ่และสีเขียวเข้ม ไม่ทนต่อราแป้งแต่ต้านทานโรคเหี่ยว ให้ผลผลิตค่อนข้างสูง น้ำหนักต่อผล 11.5- 13 กรัม ผลมีลักษณะทรงกลมหรือทรงกรวย สีแดงสดใสแต่ไม่สม่่ำเสมอ เนื้อและผลค่อนข้างแข็ง มีความฉ่ำ มีกลิ่นหอมและรสชาติดี

3.พันธุ์พระราชทาน 72 (เป็นสายพันธุ์ที่มูลนิธิโครงการหลวงส่งเสริมให้ปลูก) พระราชทานเมื่อปี พ.ศ.2542 ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระชนมพรรษาครบ 72 พรรษา เป็นสายพันธุ์จากประเทศญี่ปุ่นชื่อพันธุ์ TOCHOTOME ผลมีขนาดค่อนข้างใหญ่คือ น้ำหนักต่อผล 14 กรัม เนื้อผลแข็งกว่าพันธุ์พระราชทาน70 แต่มีความหวานน้อยกว่าคือ 9.30 Brix มีความสมดุลพอดีระหว่างความเปรี้ยวหวาน มีกลิ่นหอมเมื่อสุก เนื้อภายในผลมีสีขาว ผิวผลเมื่อสุกเต็มที่จะมีสีแดงถึงแดงจัด เงาเป็นมันที่ผิวผล ทนต่อการขนส่งมากกว่าสายพันธุ์อื่น

4. พันธุ์พระราชทาน 80 พระราชทานเมื่อปี พ.ศ. 2550 ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา เป็นสายพันธุ์ที่นำเมล็ดพันธุ์ลูกผสมจากประเทศญี่ปุ่นมาปลูก(เป็นสายพันธุ์ที่นำมาทดลองปลูกที่สถานนีวิจัยเกษตรหลวงอ่างขาง) ต้องการความสูงตั้งแต่ 800 เหนือระดับน้ำทะเลขึ้นไป อุณหภูมิ เฉลี่ย 16 0 c – 20 0 c ไม่น้อยกว่า 30 วัน มีลักษณะเด่นกว่าพันธุ์อื่นๆ คือ เมื่อสุกมีกลิ่นหอม และมีรสชาติหวานกว่า ผลมีลักษณะทรงกรวยถึงกลมปลายแหลม น้้ำหนักต่อผล 12- 15 กรัม เนื้อผลแน่นสีแดงสด ลักษณะของใบ จะเป็นรูปกลม ขอบใบหยักคล้ายฟันเลื่อย สีเขียวปานกลาง ทรงพุ่มตั้งตรง ต้านทานต่อโรคแอนแทคโนสและราแป้งได้ดี

5. พันธุ์ 329 เป็นสายพันุ์ที่กรมส่งเสริมการเกษตรใช้ในการส่งเสริมเกษตรกร มีลักษณะผลใหญ่ รสชาติ หวานอมเปรี้ยว กลิ่นหอม เนื้อแข็งสะดวกต่อการขนส่งลักษณะใบกลมและหนา

การขยายพันธุ์ สตรอเบอรี : 

การขยายพันธุ์ของสตรอเบอร์รี่ทำได้หลายวิธี ดังนี้

1.การใช้ไหล ส่วนใหญ่การขยายพันธุ์สตรอเบอร์รี่จะใช้วิธีนี้ซึ่งปฏิบัติกันมาแต่ดั้งเดิม ต้นแม่ 1 ต้น สามารถผลิตไหลได้ถึง 1,000 ต้น แต่โดยทั่วไปจะมี 25-50 ต้น ต้นไหลจะออกมากที่สุดหลังฤดูเก็บเกี่ยว คือ ช่วงฤดูฝน

2.การแยกต้น การแบ่งส่วนของลำต้นที่มีราก มีประโยชน์สำหรับพันธุ์ที่ไม่ออกไหล หรือพันธุ์ที่ออกไหลไม่ดี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ป่า

3. การใช้เมล็ด เมล็ดของ สตรอเบอรี โดยทั่วไปมีความงอกพอใช้ได้ แต่สายพันธุ์สตรอเบอรีไม่สามารถผสม

พันธุ์ให้เหมือนพันธุ์เดิมของมันได้ วิธีนี้จึงมักใช้ในการพัฒนาพันธุ์ใหม่ๆ นอกจากนั้นยังใช้ในกรณีที่ไม่มีการผลิตไหล

ภาพ ต้นที่เกิดจากการเพาะเมล็ด

4.การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เนื่องจากปัญหาไวรัสเข้าทำลายพืชและสามารถแพร่ระบาดทางไหล ทำให้การเจริญเติบโตต่ำ จึงได้มีการขยายพันธุ์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ทำให้สารถผลิตต้นพันธุ์ที่ปลอดโรคได้จำนวนมาก
อย่างรวดเร็ว

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม  :

อุณหภูมิอุณหภูมิเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของ สตรอเบอรี คือ อุณหภูมิกลางวัน 24 c กลางคืน 18 c หรืออุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 17 c – 20 c ความเข้มแสงที่เหมาะสม คือ มากกว่า 4,000 แรงเทียน ในด้านช่วงแสงที่เหมาะสมคือ 8 ชั่วโมงต่อวัน  ดินที่ใช้ปลูกสตรอเบอรี่ควรเป็นดินร่วนปนทรายมีการระบายน้ำดี มีความเป็นกรดเล็กน้อย pH ประมาณ 5.5 – 6.5

การปลูกสตรอเบอรี :

การปลูกมีหลากหลายวิธี  เช่น ปลูกในกระถาง  ในถุงเพาะชำ  ในแปลงปลูก ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่และงบประมาณของแต่ละคน  แต่ที่นิยมมากคือการปลูกลงแปลงที่เตรียมดินที่ดีแล้ว

 

การเตรียมแปลงปลูก

สตรอเบอรี เป็นพืชที่ชอบดินที่มีลักษณะที่มีอินทรีย์วัตถุค่อนข้างสูง  การระบายน้ำดี  ดังนั้นการเตรียมดินควรเพิ่มอินทรียวัตถุ เช่น ปุ๋ยคอก ขุยมะพร้าว แกลบ  ปุ๋ยหมัก  ผสมลงไปในดิน คลุกเคล้าให้เข้ากันให้เพียงพอ หลังจากผสมดินเสร็จ ควรยกแปลงให้สูง ประมาณ 50 เซนติเมตร กว้างประมาณ 70 เซนติเมตร

ระบบการให้น้ำ

แนะนำให้เกษตรกรใช้ระบบน้ำหยด  เช่น  สายเทปน้ำหยด  หัวน้ำหยด  ทั้งนี้ เพื่อป้องกันน้ำไม่ให้โดนดอก และผล

วัสดุคลุมแปลง

เกษตรกรบางรายจะใช้ใบตองตึง  ฟาง หรือจะใช้พลาสติก ก็ได้ แต่แนะนำ ให้ใช้ฟางและใบตองตึง เพราะจะระบายความร้อนจากแสงอาทิตย์ได้ดีกว่า

การดูแลให้ปุ๋ย

หลังจากปลูกไปได้สักประมาณ  20-30 วัน เริ่มให้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-8 ละลายน้ำ  ใช้อัตรา  1 กก./น้ำ  1000 ลิตร  ละลายน้ำแล้วเปิดให้ไปกับระบบให้น้ำได้เลย และให้ทุกๆ 5-7 วัน ช่วงอายุตอนออกดอก ติดผล ให้สูตร 15-5-20 อัตรา 1 กก./น้ำ 1000 ลิตร ให้ทุก 5-7 วัน หรือเกษตรกรบางท่าน อาจใช้ปุ๋ยไฮโดรโปนิค ก็ได้เช่นกัน

การป้องกันแมลง

เนื่องจาก สตรอเบอรี เป็นผลไม้ที่รับประทานผลสด  เรื่องการใช้สารเคมีจึงไม่แนะนำ  แนะนำให้ใช้สารสกัดชีวภาพ เช่น น้ำส้มควันไม้ สารสกัดจากสะเดา และสารชีวภาพอื่นๆ ฉีดพ่นทุกๆ 5-7 วัน  หากพบการระบาดไม่มาก ควรจับมาทำลายด้วยมือก่อน   แมลงที่พบบ่อยๆ เช่น  หนอนผีเสื้อต่างๆ กิ้งกือ และหอยทาก

การป้องกันโรค

โรคที่สำคัญ ได้แก่  โรคใบจุด  โรคใบไหม้  โรคต้นเน่า  โรคไวรัส โรคเหล่านี้สามารถป้องกันได้โดยใช้ต้นพันธุ์ที่ปลอดโรค และหมั่นดูและแต่งใบที่เป็นโรค และใบแก่ออกเรื่อยๆ

การเก็บเกี่ยว

ไม่ควรให้ผล สตรอเบอรี โดนน้ำ เพราะจะเสียได้ง่าย  และควรเก็บด้วยความระมัดระวังเนื่องจากช้ำง่าย  เกษตรกรบางรายจะเก็บเมื่อสตรอเบอรี เริ่มมีสีแดงครึ่งลูก  เพื่อการขนส่งทางไกลพอถึงตลาดก็จะมีสีแดงทั่วทั้งลูกหลังจากเก็บเกษตรกรต้องคัดแยกขนาด และคัดผลกันอีกทีแล้วค่อยแพ็คใส่กล่องต่อไป

เรื่อง/ภาพโดย : นายธีรพล  กว้างขวาง (ซอโอ ฟาร์ม)

————-  ^ – ^ ————–

แหล่งอ้างอิง : 

ศูนย์ส่งเสริมการเกษตรที่สูง จังหวัดกาญจนบุรี,(ออนไลน์).เข้าถึงได้จาก :

http://www.haec01.doae.go.th/aticles/stawberry.pdf