
ลดกลิ่นสาบปลาดุก ด้วย 7 เคล็ดวิธีนี้
ลดกลิ่นสาปปลาดุก เป็นเคล็ดวิธีที่เกษตรกรควรมีการวางแผนในการจัดการให้เหมาะสมก่อนจะทำการจับขายทอดตลาด เพราะจะทำให้เนื้อปลามีรสชาติดี น่าทาน จำหน่ายง่าย และขายได้ราคา โดยสามารถจัดการได้ด้วย 7 เคล็ดวิธี ดังนี้
1. เปลี่ยนมาเลี้ยงปลาดุกในกระชังลดกลิ่นสาบ
วิธีนี้ช่วยแก้ปัญหาเรื่องเศษอาหารปลาไปตกค้างก้นบ่อ จนเกิดการสะสมทำให้เกิดสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินและเศษอาหารที่เน่าเสียซึมเข้าสู่ตัวปลา ซึ่งกลายเป็นปัญหา ของผู้ที่เลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์ หรือ ภาชนะอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี เพราะเศษอาหารที่ปลาดุกกินเหลือ จะไหลลงสู่บ่อน้ำเป้นอาหารปลาด้านล่างแทน เมื่อปลาดุกถ่ายมูลออกมาจะกลายเป็นอาหารของปลานิลพร้อมกับอาหารที่ปลากินไม่หมด จึงไม่มีสิ่งตกค้างในกระชัง เนื้อปลาดุกที่เลี้ยงจึงมีความหอมหวานไม่มีกลิ่นสาบคาวคล้ายกับปลาดุกที่ได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติ และยังจับขายได้ง่ายกว่าการเลี้ยงในบ่อดินหรือบ่อซีเมนต์อีกด้วย
2. บำรุงสุขภาพปลาดุกให้แข็งแรงด้วยน้ำหมักผลไม้สุก
เป็นวิธีที่ทำให้ปลาดุกที่เลี้ยง มีความสมบูรณ์ ไม่เป็นโรค มีเนื้อหวานทานอร่อย ไม่เหม็นสาบ แม้จะเลี้ยงในภาชนะจำกัด แค่เพียงใช้น้ำหมักผลไม้สุก สาดลงไปในบ่อเลี้ยงปลาดุกในช่วงเย็น ในอัตรา 5 ลิตร ต่อ พื้นที่ 100 ตารางวาหรือ 1 งาน ทุกเดือนเพื่อปรับสภาพน้ำให้ไม่เหมาะต่อการเกิดสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินและลดการสะสมของเศษอาหารก้นบ่อ วิธีนี้จะทำให้น้ำในบ่อมีออกซิเจนมากขึ้น และทำให้สุขภาพของปลาดุกแข็งแรง มีไขมันสะสมในท้องน้อย ไม่มีโรคระบาด และช่วยรักษาแผลตามตัวให้หายได้ด้วย
++ สูตรน้ำหมักผลไม้สุก ลดกลิ่นสาปปลาดุก ++
1.ผลไม้สุกรสหวาน เช่น มะม่วงสุก เปลือกสับปะรด มะละกอสุก 3 กิโลกรัม
2.กากน้ำตาลหรือน้ำตาลทรายแดง 1 กิโลกรัม
3.น้ำเปล่า
วิธีการทำ : สับผลไม้สุกเป็นชิ้นหยาบทั้งเปลือก คลุกเคล้าให้เข้ากัน จากนั้นละลายกากน้ำตาลกับน้ำเปล่า เทผสมกับผลไม้ในถังพลาสติก แล้วค่อยๆ เติมน้ำเปล่าลงไปให้พอท่วม ปิดฝาหมักทิ้งไว้ ไม่ต้องคน ตั้งถังหมักทิ้งไว้ในที่ร่ม 6 เดือนขึ้นไป จะได้น้ำหัวเชื้อจุลินทรีย์จากผลไม้สุก ให้กรองเอาแต่น้ำไปใช้
ขยายเพื่อใช้งานในบ่อปลา ดังนี้
1.น้ำหัวเชื้อจุลินทรีย์ 1 ส่วน
2. กากน้ำตาล 1 ส่วน
3.น้ำเปล่า 10 ส่วน
วิธีการทำ : ให้นำน้ำหัวเชื้อจุลินทรีย์ กากน้ำตาล และน้ำเปล่า เทคนผสมให้เข้ากัน แล้วเก็บไว้ในภาชนะที่มีฝาปิด จากนั้นทิ้งไว้อีก 7 วันจึงจะสามารถนำไปใช้ได้ และควรใช้ให้หมดภายใน 3 เดือน
3. เปลี่ยนถ่ายน้ำให้บ่อย อย่าให้น้ำเขียว และ ปรับสภาพน้ำที่เลี้ยงทุกครั้งหลังมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำด้วยหัวเชื้อจุลินทรีย์ EMสำหรับการเลี้ยงปลาดุกในบ่อปิด เช่น ถังพลาสติก บ่อซีเมนต์ ควรมีการถ่ายน้ำให้ปลาดุกใหม่ทุก 7 วัน และทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนถ่ายน้ำใหม่ ให้ใส่หัวเชื้อจุลินทรีย์ EM ลงไปด้วยในอัตรา 2 ช้อนโต๊ะต่อพื้นที่บ่อขนาด 1ตารางเมตร หากเลี้ยงไว้ในบ่อดิน ไม่ควรปล่อยให้เกิดน้ำเขียวมากเกินไป
4. เลี้ยงด้วยอาหารสูตรเด็ด เร่งโต ลดกลิ่นเหม็นสาบซึ่งเป็นสูตรที่มีการคิดค้นและพัฒนาขึ้นมาจากภูมิปัญญาของเกษตรกรคุณบุญญวัฒน์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา หมู่ที่4 ตำบลมวกเหล็ก อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ที่นำไปใช้เลี้ยงเป็นอาหารเสริมเลี้ยงปลาดุกในบ่อปิดแล้วให้ผลดีในแง่ของการเร่งโต และเนื้อปลาที่ได้ไม่เหม็นสาบคาว นำไปให้ปลากินแทนหัวอาหารเม็ดหรืออาหารสำเร็จรูป วันละ 2 มื้อ เช้า – เย็น
++สูตรอาหารเลี้ยงปลาดุก ลดกลิ่นสาปปลาดุก ++
- กากมัน 1 กิโลกรัม
- รำละเอียด 2 กิโลกรัม
- ปลาป่น 2 กิโลกรัม
- กากถั่วเหลือง 2 กิโลกรัม
- ปุ๋ยนมสดชีวภาพ 2 ช้อนโต๊ะ
วิธีทำ : นำส่วนผสมทุกอย่างมาผสมและคลุกเคล้าให้เข้ากัน ผสมให้ได้ความชื้นอยู่ที่ประมาณ 60% นำมาปั้นให้เป็นก้อน และผึ่งลมให้แห้งประมาณ 7 วัน นำไปให้ปลากินแทนการให้อาหารเม็ดหรืออาหารสำเร็จรูป ประมาณวันละ 2 มื้อ เช้าเย็น จะช่วยเร่งการเจริญเติบโตของปลาดุก ป้องกันโรค และที่สำคัญจะได้ปลาที่มีรสชาติอร่อย ไม่เหม็นคาว
5. อย่าเข้าใจว่าปลาดุกกินเก่ง จนนำมาสู่การให้อาหารมากเกินไป การให้อาหารปลาดุกตามความเข้าใจที่ว่า เป็นปลากินเก่ง ประกอบกับอุปนิสัยของปลาดุกที่จะชอบอมอาหารแล้วไปคายทิ้งทีหลัง จึงเป็นเหตุให้เกิดเศษอาหารตกค้างสะสมอยู่ก้นบ่อมาก ดังนั้น ควรมีการจัดสรรให้ในปริมาณที่พอดี ควรให้อาหารทีละน้อยแต่บ่อยครั้ง เช่น ให้วันละ 2 ครั้ง เช้า–เย็น ในสภาพอากาศปกติ หากสภาพอากาศเย็นซึ่งเป็นช่วงที่ปลาจะกินอาหารได้น้อยลง ควรปรับลดเหลือวันละครั้ง และ ให้อาหารในช่วงที่มีแดดจัด และก่อนจับขาย 1 เดือน ควรปรับเปลี่ยนการให้อาหารจากอาหารที่ทำขึ้นเองมาเป็นการให้หัวอาหารตามปกติ
6. พักปลาที่จะจับขายในน้ำที่มีความเค็ม 3 ppt ขึ้นไป ที่อุณหภูมิ 34- 36 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 36 ชม. จะทำให้กลิ่นสาบปลาดุกลดลง หรือ ใช้หลักการแบบชาวบ้าน คือ งดให้อาหารก่อนจับปลาขาย 3 วัน
– วันที่ 1 งดให้อาหาร
– วันที่ 2 งดให้อาหารและไขน้ำในบ่อปลาออก ให้เหลือความสูง 80-90 ซม.
– วันที่ 3 งดให้อาหาร ขังปลาไว้ในน้ำที่ความสูง 80- 90 ซม. แล้วใส่เกลือเม็ด ลงไปในอัตรา 3,000 กรัมหรือ3 กิโลกรัม / พื้นที่บ่อขนาด 1,600ตารางเมตร(1 ไร่) หรือ ใช้เกลือ 100 กรัม ต่อ พื้นที่บ่อ 50 ตารางเมตร
7. ขังในน้ำสะอาด 7 -14 วันก่อนจำหน่าย ก่อนการขายปลา 7 – 14 วันให้ ย้ายปลาที่จับเพื่อเตรียมจำหน่ายมาขังไว้ในน้ำสะอาด ระหว่างนี้ให้หัวอาหารปลาตามปกติ จะช่วยทำให้กลิ่นสาบปลาจางลงกว่าเดิม
หมายเหตุ :
– การจะเลือกใช้วิธีไหนในการจัดการกับกลิ่นสาบปลา ให้พิจารณาถึงความคุ้มทุน ตลาดเป้าหมาย และความสะดวกของผู้เลี้ยงเป็นหลัก ทางเราแค่เพียงแนะนำไว้เป็นหลักการให้นำไปใช้จัดการตามความเหมาะสม
เรียบเรียงโดย : Admin มินยดา Kasetintrend.com
——————————–
แหล่งอ้างอิง :
– https://www.rakbankerd.com/agriculture/
– http://www.rakbankerd.com/agriculture/page.php?id=1629&s=tblareablog
– การเลี้ยงปลาดุกด้วยพืช โดยนายอาคม สงสวัสดิ์ เจ้าพนักงานการเกษตรชำนาญงาน