มะพร้าวน้ำหอมไทย ยังมีอนาคตไกลในตลาดจีนและต่างประเทศ
มะพร้าวน้ำหอม ของไทยเป็นหนึ่งในผลไม้สด 22 ชนิดที่จีนอนุญาตให้นำเข้าประเทศได้ ตามพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดของทั้งสองประเทศ กำลังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวจีนเป็นอย่างยิ่ง หลังรสชาติของน้ำมะพร้าวไทยเข้าไปตีตลาดจีนไว้เมื่อประมาณ 5-7 ปีก่อน ทำให้คนจีนค้นพบมิติใหม่ในการบริโภคน้ำมะพร้าวสดที่มีรสชาติหวานอร่อย ไม่เหมือนน้ำกะทิเจือจางที่คนจีนคุ้นเคย จนน้ำมะพร้าวไทยได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวจีนเป็นอย่างดีในปัจจุบัน ประกอบกับความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยจีนที่มีมายาวนานถึง 45 ปี ทำให้จีนกลายเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของประเทศไทยมาตลอด 5 ปีต่อเนื่อง และไทยเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 3 ของจีนในกลุ่มอาเซียน ที่ทำให้เกิดยอดสั่งซื้อมะพร้าวน้ำหอมไทยจากจีนเข้ามาเป็นจำนวน แม้จะอยู่ในช่วงที่ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด ตลาดความต้องการบริโภคมะพร้าวน้ำหอมจากไทยกลับไปได้สวยในประเทศจีน
โดยเฉพาะ มะพร้าวน้ำหอม ราชบุรี สินค้า GI ที่ยังคงครองแชมป์ด้านการส่งออกปี 2564 น.ส.กนิษฐา กังสวนิช รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า ปัจจุบันสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) มีมูลค่าการส่งออกในปี 2564 รวม 5,406,594,788 บาท โดยสินค้า GI ไทยที่มีมูลค่าการส่งออกมากเป็นอันดับหนึ่ง คือ มะพร้าวน้ำหอมราชบุรี ส่งออกได้มูลค่า 3,495 ล้านบาท โดยส่งออกไปจีนและสหรัฐฯ รองลงมา คือ มะขามหวานเพชรบูรณ์ 300 ล้านบาท ส่งออกไปจีน เวียดนาม ยุโรป กล้วยหอมทองปทุม 197 ล้านบาท ส่งออกไปจีน ส้มโอขาวใหญ่สมุทรสงคราม 200 ล้านบาท ส่งออกไปจีน ส้มโอทับทิมสยามปากพนัง 138 ล้านบาท ส่งออกไปจีน ไต้หวัน และฮ่องกง
มะพร้าว GI ราชบุรียืนหนึ่งเรื่องคุณภาพที่ตลาดต้องการ
สถานการณ์ของมะพร้าวน้ำหอมไทยในตลาดจีนมีออเดอร์เพิ่มขึ้นตลอดเวลา อันเนื่องมาจากช่วงนี้เป็นช่วงฤดูร้อนของจีน จึงทำให้น้ำมะพร้าวน้ำหอมไทยเป็นที่ต้องการของตลาดจีนในปัจจุบันท่ามกลางปัญหาด้านการขนส่งและสภาพอากาศร้อนแล้งในประเทศไทยที่ทำให้ผลผลิตมะพร้าวมีจำนวนลดลง ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดจีน และถึงแม้ว่ามะพร้าวไทยจะมีราคาสูงถึงลูกละ 70 บาทในจีน(ในยุโรปลูกละ 100 บาทขึ้นไป) ซึ่งสูงกว่ามะพร้าวจากประเทศคู่แข่งอย่าง เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา อินเดีย ที่ไม่ได้ใช้ “ความหอม” เป็นจุดขาย แต่จะเน้นความเป็นมะพร้าวอ่อนสีเขียวที่สด ราคาถูก แทน มะพร้าวไทยก็ยังคงเป็นที่ต้องการแบบยืนหนึ่งด้านคุณภาพ ด้วยรสชาติ หอม หวาน เนื้อหนา 2 ชั้น อันเป็นเอกลักษณ์อันขึ้นชื่อของมะพร้าวไทย โดยเฉพามะพร้าวน้ำหอมในเขตจังหวัดราชบุรี ที่ได้รับความนิยมชมชอบจากผู้ประกอบการจีนที่นำเข้าผลไม้ไทย เพราะติดใจด้านรสชาติและคุณภาพของมะพร้าวไทยในเขตนี้ ด้วยชื่อเสียงด้านรสชาติและคุณภาพแบบ GI หรือGeographical Indication ที่หมายถึง “สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์”
ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เป็นไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครอง พ.ศ.2546 ไว้เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2558 ให้มะพร้าวน้ำหอมในเขตพื้นที่จังหวัดราชบุรี พันธุ์เตี้ย สีเขียว หรือ ที่เรียกว่าหมูสีเขียว มีเปลือกสีเขียวสด ก้นจีบตรงกลางผลป่องกลม รูปทรงสม่ำเสมอ เนื้อหนาสองชั้น น้ำมะพร้าวมีความหวานอยู่ที่ 7-10 องศาบริกซ์ และมีกลิ่นหอมคล้ายใบเตย ในพื้นที่ปกคลุมทั้ง 7 อำเภอ ได้แก่ ดำเนินสะดวก วัดเพลง บ้านโป่ง เมือง บางแพ ปากท่อ และ โพธาราม ซึ่งมีพื้นที่ลูกกว่า 80,000 ไร่ บนดิน
โดย บริษัท Pagoda ซึ่งเป็นบริษัทดำเนินธุรกิจจำหน่ายผลไม้ที่มีชื่อเสียงของจีน ได้แสวงหาผลไม้ที่อร่อยในไทยเพื่อไปจำหน่ายในประเทศจีน กล่าวว่า สภาพตลาดมะพร้าวน้ำหอมไทยโตขึ้นมากจากเดิมปี 2016 ขายได้ประมาณ 4 ล้านลูก แต่ปีนี้(2019)เพิ่มขึ้นเป็น 15 ล้านลูกแล้วที่ขายออกไปได้ และเชื่อว่าน่าจะเพิ่มขึ้นปีหนึ่ง 25-30 % ถ้าหากคุณภาพไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก โดยผลผลิตมะพร้าวน้ำหอมของไทยในหนึ่งปีจะมีประมาณ 700 ล้านลูก ได้ถูกส่งไปจำหน่ายยังปลายทางประเทศจีนประมาณ 50 %
โควิด-19 ไม่กระทบการส่งออกมะพร้าวไทย
ดังที่เกริ่นไปแล้วว่ามะพร้าวน้ำหอมของไทยเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคชาวจีนรองลงมาจากทุเรียน ซึ่งจีนเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของมะพร้าวไทยตามด้วยไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย อเมริกา ออสเตรเลีย ยุโรป และตะวันออกกลาง สำหรับผลิตภัณฑ์มะพร้าวตัดแต่ง ได้แก่ มะพร้าวควั่น มะพร้าวเจีย และมะพร้าวหัวโต ด้วยเอกลักษณ์ด้านรสชาติที่ประเทศคู่แข่งยังลอกเลียนแบบไม่ได้ มะพร้าวไทยจึงยืนหนึ่งในตลาดจีนในปัจจุบัน จึงทำให้มียอดคำสั่งซื้อเข้ามาต่อเนื่องแม้จะอยู่ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ตามที แต่ด้วยความที่ประเทศจีนในขณะนี้เป็นช่วงฤดูร้อน ทำให้ความต้องากรเครื่องดื่มรสชาติหวานเย็นอย่างน้ำมะพร้ามีสูง เพราะให้ประโยชน์อันดีต่อร่างกาย ช่วยดับกระหายคลายร้อนได้ดี จึงทำให้ผลผลิตที่ส่งออกจากไทยไปจีนในช่วงเวลานี้มีเท่าไหร่ก็ยังไม่พอ เพราะอยู่ในช่วงฤดูร้อนและประสบกับปัญหาภัยแล้งผลผลิตจึงมีน้อยลง สามารถป้อนตลาดจีนได้เพียงครึ่งหนึ่งของความต้องการบริโภคเพียงเท่านั้น.
เขียน/เรียบเรียงโดย : Kasetintrend.com
——————————————-
แหล่งอ้างอิง :
https://ibusiness.co/detail/9630000033276
https://www.thansettakij.com/economy/519976