
มะปรางหวาน พันธุ์ทองประมูลพรหมณี พืช GI ของดีประจำจังหวัดนครนายก
จัดเป็นข่าวดีของพี่น้องชาวจังหวัดนครนายกที่กำลังจะได้ถือครองทำกินกับพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น มะปรางหวานพันธุ์ทองประมูลพรหมณี ที่อยู่ในระหว่างรอผลการยื่นขอจดทะเบียนฯ โดยถ้าผ่านคณะกรรมการจะออกหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นให้ชุมชนมะปรางหวานทองประมูลนครนายก ซึ่งมีพื้นที่การปลูกมะปรางครอบคลุม 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองนครนายก อำเภอบ้านนา และอำเภอปากพลี ให้ความคุ้มครองยาวนานถึง 17 ปี
ข้อดีของการได้รับการคุ้มครองในฐานะพืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น คือ : ที่คนในชุมชนมะปรางหวานทองประมูลนครนายก มีสิทธิแต่ผู้เดียวในการปรับปรุงพันธุ์ ศึกษา ค้นคว้า ทดลอง วิจัย ผลิต ขาย ส่งออกนอกราชอาณาจักร หรือจำหน่ายส่วนขยายพันธุ์ของพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น โดยมีอายุการคุ้มครองยาวนาน 17 ปี และสามารถขยายอายุการคุ้มครองต่อได้คราวละ 10 ปี หากพันธุ์พืชนั้นยังคงเป็นพันธุ์พืชที่มีอยู่เฉพาะในชุมชน และชุมชนนั้นยังคงตั้งถิ่นฐานและสืบทอดระบบวัฒนธรรมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งยังร่วมกันอนุรักษ์หรือพัฒนามะปรางพันธุ์หวานทองประมูลพรหมณี โดยที่ยังไม่กระจายพันธุ์ออกไปนอกเขตชุมชน ตามขอบเขตของพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.542 มาตรา 47 ที่ระบุว่า “ชุมชนนั้นมีสิทธิแต่ผู้เดียวในการปรับปรุงพันธุ์ ศึกษา ค้นคว้า ทดลอง วิจัย ผลิต ขาย ส่งออก นอกราชอาณาจักร หรือจำหน่ายด้วยประการใด ซึ่งส่วนขยายพันธุ์ของพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น ทั้งนี้ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มเกษตรกร หรือสหกรณ์ ที่ได้รับหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นเป็นผู้ทรงสิทธิในพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นนั้น แทนชุมชนดังกล่าว”

การยื่นขอจดทะเบียนพืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น https://op.mahidol.ac.th/ra/contents/orra_document/20200901/20200901-01.pdf
ทั้งนี้ มะปรางหวาน พันธุ์ทองประมูลพรหมณี เป็นพันธุ์พืชที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นในลำดับที่ 2 ต่อจากส้มพันธุ์เทพรสซึ่งเป็นพันธุ์พืชเฉพาะถิ่นชนิดแรกของประเทศไทย ที่ได้รับการรับรองและขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชคุ้มครองเฉพาะถิ่นจากกรมวิชาการเกษตรเมื่อปี 2562 ภายใต้เงื่อนไขข้อกำหนดที่ว่า “หากผู้ใดจะใช้ประโยชน์จากพันธุ์พืชที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น จะต้องทำข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์กับชุมชน ซึ่งการจัดสรรผลประโยชน์ดังกล่าวจะเป็นรายได้ร่วมกันของชุมชนถึง 60 เปอร์เซ็นต์”
ประวัติพันธุ์ : มะปรางหวาน พันธุ์ทองประมูลพรหมณี เกิดในพื้นที่พื้นที่ตำบลพรหมณี อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายกของนายบุญส่ง เนียมหอม เกษตรกรอาชีพทำนาและทำสวนในที่ได้เก็บผลมะปราง (มะยงชิด) พันธุ์ทูลเกล้าที่หล่นใต้ต้นในสวนของเพื่อนมาเพาะขยายพันธุ์ โดยนำผลที่ใกล้เน่าเปลือกสีดำมาเพาะปลูก จนกระทั่งอายุ 7 ปีพืชเริ่มให้ผลผลิตแล้วพบว่ามีการกระจายตัวทางพันธุกรรมแบ่งเป็น 3 กลุ่ม โดยในกลุ่มที่ 3 มีลักษณะเด่นตรงที่เป็นมะปรางหวานทรงผลยาวรีเป็นรูปไข่ ผลมีขนาดใหญ่ มีจุกเล็กน้อยที่ขั้วผล ผลแก่และเนื้อผลมีสีเหลืองปนส้ม ความกว้างผลประมาณ 3.2 เซนติเมตร ความยาวผลประมาณ 6.2 เซนติเมตร รสชาติหวานและมีกลิ่นหอม จึงได้ตั้งชื่อพันธุ์ให้ว่า “หวานทองประมูลพรหมณี” พร้อมกับได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเป็นพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นกับสำนักคุ้มครองพันธุ์พืช เนื่องจากเห็นว่ามะปรางพันธุ์หวานทองประมูลพรหมณีมีลักษณะดีและต้องการอนุรักษ์ไว้ให้เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของชุมชน
ประกอบกับมะยงชิดมะปรางหวานในพื้นที่จังหวัดนครนายกนั้นเป็นผลไม้ขึ้นชื่อของจังหวัดที่มีคุณภาพและเอกลักษณ์โดดเด่นจนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2559 จากสภาพภูมิอากาศของจังหวัดนครนายกที่เอื้อต่อการปลูกมะยงชิดและมะปรางหวาน ทำให้ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพ มีปริมาณมาก และมีคุณภาพตามมาตรฐานสินค้า GI โดยมะยงชิดนครนายกมีลักษณะเด่น คือ มีผลใหญ่รูปไข่ เนื้อแน่น กรอบ มีกลิ่นหอม และรสชาติหวานอมเปรี้ยว ส่วนมะปรางหวานนครนายกมีผลใหญ่ยาวรี เปลือกบาง มีกลิ่นหอม และรสชาติหวานกรอบ ปัจจุบันผลผลิตมะยงชิดนครนายกและมะปรางหวานนครนายกกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด ทางจังหวัดจึงเร่งส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ผลิตเต็มกำลัง.
แหล่งอ้างอิง :