การปลูกแตงกวา คัมภีร์วิถีแตงกวา ปลูกแล้วสำเร็จ Success ทุกกรณี

มะนาวนอกฤดู หรือ มะนาวฤดูแล้ง เป็นเทคนิคการจัดการทำมะนาวให้มีผลผลิตดีในช่วงเดือน กุมภาพันธ์-เมษายน ของทุกปีอันเป็นช่วงเวลาทองของมะนาวที่จะทำราคาได้ดีในช่วงนี้ เพราะผลผลิตตามธรรมชาติมีน้อย ซึ่งโดยทั่วไปมะนาวจะให้ผลผลิตสูงในช่วงฤดูฝนทำให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก และทำให้ราคาที่ขายได้ต่ำ แต่มะนาวจะขาดแคลนและมีราคาสูงในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งจะอยู่ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน ศูนย์วิจัยพืชสวนพิจิตร กรมวิชาการเกษตร ได้ประสบความสำเร็จในการควบคุมมะนาวให้ได้ผลผลิตในช่วงฤดูแล้งอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีขั้นตอนการปฏิบัติดังนี้
เทคนิคการผลิตมะนาวฤดูแล้ง :
1. ในระยะก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิตในฤดูกาล ระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม
1.1) ทำการปลิดช่อดอกและผลอ่อนที่เริ่มติดเป็นผลเล็กอยู่ออกให้หมด ซึ่งถ้ามีปริมาณมากอาจพ่นทางใบด้วยสารเคมีเอทธิฟอน อัตรา 250มิลลิกรัมต่อน้ำ 1 ลิตรปัจจุบันมีสารดังกล่าวจำหน่ายในทางการคา ชื่อ อีเทรล โดยชนิดที่มีเนื้อสารเอทธิฟอน 48% ใช้อัตรา 104 มิลลิลิตร(ซีซี) ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ชนิดเอทธิฟอน 3% ใช้ในอัตรา167 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นบริเวณช่อดอกและผลอ่อนในระยะดอกบานถึงกลีบดอกโรย ดอกและผลอ่อนจะร่วงภายใน 2 ถึง 3 วัน มิฉะนั้นหากปล่อยไว้ความสมบูรณ์ของต้นจะลดลงเนื่องจากต้องสูญเสียอาหารไปในการเลี้ยงผล
1.2) บำรุงต้นให้สมบูรณ์ด้วยความสมบูรณ์ด้วยการใส่ปุ๋ยทางดิน ได้แก่ ปุ๋ยเคมีสูตร 16-20-0 หรือ 15-15-15 หรือ 16-16-16 อัตรา 1-1.5 กิโลกรัมต่อต้นเมื่ออายุ2-4 ปี และอัตรา 2-3 กิโลกรัมต่อต้นเมื่ออายุ 5-7 ปี ร่วมกับปุ๋ยคอก และมีการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ
1.3) ระยะปลายเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม ตัดแต่งกิ่งต้น โดยเลือกตัดแต่งกิ่งแห้ง กิ่งกระโดงภายในทรงพุ่ม กิ่งที่เป็นโรคและถูกทำลายจากการแมลงออกเผาทำลาย เนื่องจากกิ่งต่างๆ ดังกล่าวไม่มีประโยชน์หากปล่อยทิ้งไว้บนต้นจะแย่งอาหาร และเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค
1.4) กำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช โดยการพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดโรคที่สำคัญ ได้แก่ โรคแคงเกอร์ และ แมลงที่สำคัญ ได้แก่ เพลี้ยไฟ เพลี้ยหอย เพลี้ยแป้งและไรเป็นต้น
2. ระยะของการเจริญเติบทางลำต้น และกิ่งใบระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงต้นเดือนกรกฎาคม
2.1) เดือนพฤษภาคม เร่งการแตกกิ่งใบรุ่นใหม่ โดยการพ่นด้วยสารฮอร์โมนจิบเบอเรลลิดแอซิด ระดับความเข้มข้น 25 มิลลิกรัม ต่อน้ำ 1 ลิตร ซึ่งสามารถคำนวณโดยการใช้สารฮอร์โมนจิบเบอเรลลิดแอซิด ที่มีจำหน่ายในท้องตลาด ได้แก่ รูปผง (ผลึก) ชนิดความเข้มข้น 10% ใช้ 5 กรัม หรือชนิดความเข้มข้น 20% ใช้ 2.5 กรัมผสมกับน้ำ
20 ลิตร และรูปสารละลายชนิดความเข้มข้น 1.6% ใช้ 31.25ซีซี หรือชนิดความเข้มข้น 3.2% ใช้ 15.6 ซีซี ผสมน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นทางใบทั่วต้นมะนาวจะสามารถกระตุ้นการผลิตใบอ่อนได้
2.2) ดูแลใบอ่อนรุ่นใหม่ ให้มีความสมบูรณ์ปราศจากโรคและแมลงเข้าทำลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มักพบการเข้าทำลายของหนอนชอนใบระยะใบอ่อนเจริญ
2.3) จัดการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอควบคู่กันไป เพื่อส่งเสริมการเจริญทางกิ่งใบใหม่อีกรุ่นหนึ่ง ระหว่างปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนกรกฎาคม
2.4) พ่นอาหารเสริมทางใบ ที่ประกอบด้วยปริมาณธาตุอาหารรองต่างๆ ได้แก่ ธาตุอาหารแมกนีเซียมโบรอน สังกะสี และแคลเซียม ฯลฯ เป็นต้น เพื่อเพิ่มความสมบูรณ์ของใบใหม่ อีกรุ่นโดยอาจให้ขณะเดียวกันกับการให้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช
3.ระยะของการควบคุมต้นเพื่อส่งเสริมขบวนการสร้างดอกระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน
3.1) ระยะต้นเดือนกรกฎาคม ใส่ปุ๋ยทางดินที่มีธาตุฟอสฟอรัสสูง ได้แก่ ปุ๋ยเคมีสูตร 8-24-24 ในสภาพดินทรายและปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12 ในสภาพดินเหนียวใส่อัตราต้นละ 2 กิโลกรัม เพื่อเร่งการเจริญและพัฒนาการของใบให้มีสภาพสมบูรณ์เต็มที่
3.2) ระยะปลายเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม ราดสารแพดโคลบิวทราโซลลงที่โคนต้น โดยอัตราการใช้สารพิจารณาจากขนาดของทรงพุ่ม และชนิดของสภาพดินปลูกโดยใช้อัตรา 1.5-2 กรัมต่อทรงพุ่มกว้าง 1 เมตรในสภาพดินทราย และอัตรา 1 กรัมต่อทรงพุ่ม 1 เมตรในสภาพดินเหนียว ส่วนใหญ่สารดังกล่าว ที่มีจำหน่ายทั่วไปมักจะมีเนื้อสารออกฤทธิ์ 10% ดังนั้นจึงใช้สาร 15-20 กรัมต่อทรงพุ่มกว้าง 1 เมตร ในสภาพดินทราย และ 10กรัมต่อทรงพุ่มกว้าง 1 เมตร ในสภาพดินเหนียว โดยผสมสารดังกล่าวด้วยน้ำ 2-4 ลิตร ราดบริเวณรอบโคนต้นการใช้สารดังกล่าว เพื่อควบคุมให้ต้นมะนาวมีการพักตัวหยุดการเจริญทางกิ่งใบ สะสมอาหารพร้อมที่จะเกิดการสร้างดอกและผลไม้ซึ่งการใช้สารแพคโคลบิวทราโซลให้ได้ผลดี สภาพดินควรมีความชื้นอย่างเพียงพอจึงควรให้น้ำตามภายหลังการให้สาร
3.3) ระหว่างปลายเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน ทำการพ่นปุ๋ยเคมีให้ทางใบที่มีธาตุอาหารฟอสฟอรัส และโปแตสเซียมสูง ได้แก่ สูตร 0-52-34 อัตรา 50 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร โดยผสมร่วมกับสารจับใบ จำนวน 6-8 ครั้ง ทุกๆ 7 วัน จะมีผลควบคุมให้ต้นงดการสร้างใบอ่อนเร่งการเจริญและพัฒนาของใบอ่อน ให้แก่สมบูรณ์และสร้างอาหารสะสมได้ดี
3.4) งดการให้น้ำเพื่อส่งเสริมการพักตัวและสะสมอาหารของกิ่งต้น
4. ระยะการออกดอกและติดผล ระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน
ภายหลังจากการให้สารแพคโคลบิวทราโซลแล้วประมาณ 60 วัน หรือ 2 เดือนเป็นระยะที่ต้นมะนาวเริ่มแสดงความพร้อมต่อการออกดอกสังเกตได้จากต้นจะหยุดการแตกกิ่ง ใบใหม่ ใบเขียวเข้มตามบริเวณซอกใบของกิ่งเริ่มพัฒนา บวมพองขึ้น จนสามารถแทงช่อดอกได้บ้างบางกิ่ง
4.1) เนื่องจากระยะของการออกดอก และติดผลอ่อน มักพบปัญหาการระบาดเข้าทำลายของเพลี้ยไฟและไร ตลอดจนโรคแคงเกอร์ จึงควบคุมป้องกันดูแลอย่างใกล้ชิดด้วยการพ่นสารเคมีก่อนแทงช่อดอก
4.2) ในราวปลายเดือนกันยายน ถึงกลางเดือนตุลาคม เร่งการแตกตา หรือทำลายการพักตัวของตาจะสามารถกระตุ้นให้มะนาวออกดอกได้ ด้วยการพ่นสารเคมีเร่งการแตกตาที่ให้ผลผลิตหลายชนิด ได้แก่ สารไทโอยูเรียอัตรา 0.25% (50 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร) หรือ โปแตสเซียม-ไนเตรท อัตรา 2.5% (250 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร) จำนวน 2 ครั้ง ห่างกัน 1 สัปดาห์ จะทำให้เกิดการแตกตาดอกของมะนาวได้ภายในระยะ 2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามหากมีการให้สารไทโอยูเรีย เร็วเกินไป จะทำให้มะนาวมีโอกาสแตกใบอ่อนแทนเนื่องจากตาดอกยังพัฒนาได้ไม่สมบูรณ์
4.3) เมื่อต้นมีการออกดอกสม่ำเสมอทั่วต้น ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายนแล้ว จำเป็นต้องมีการจัดการให้น้ำโดยเริ่มต้นมีความชุ่มชื้นบ้างในระยะแรกและเพิ่มขึ้นเมื่อมีการติดผลทั่วต้น เพราะถ้าสภาพต้นเกิดการขาดน้ำจะทำให้เกิดการหลุดร่วงของผลอ่อนได้
4.4) พ่นอาหารเสริมทางใบที่ประกอบด้วยธาตุอาหารต่างๆ ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายนห่างกันทุก 2 สัปดาห์ เพื่อส่งเสริมความสมบูรณ์ของดอกและผลอ่อน
5. ระยะผลเจริญถึงระยะแก่เก็บเกี่ยวได้ ระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนเมษายน
5.1) ให้ปุ๋ยเคมีทางดิน สูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 อัตรา 2 กิโลกรัมต่อต้น โดยแบ่งใส่ 2 ครั้งๆ ละ 1กิโลกรัมต่อต้น ในเดือนพฤศจิกายนและเดือนมกราคม เพื่อต้นนำไปใช้ในการเจริญเติบโตของผล
5.2) ให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ
5.3) พ่นอาหารเสริมทางใบที่ประกอบด้วย ธาตุอาหารรองตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ ห่างกันทุก 4 สัปดาห์
5.4) ข้อควรระวังการเข้าทำลายของแมลงศัตรูพืชและโรคที่สำคัญ ได้แก่ เพลี้ยไฟ ไร เพลี้ยหอย และเพลี้ยแป้ง รวมทั้งโรคแคงเกอร์ ซึ่งอาจทำให้ผลผลิตมะนาวมีคุณภาพต่ำ
——————————-
ที่มา : คำแนะนำเทคนิคการผลิตมะนาวฤดูแล้ง ศูนย์วิจัยพืชสวนพิจิตร กรมพัฒนาที่ดิน www. idd.go.th