พิเชษฐ กันทะวงค์ เจ้าพ่อเมล่อนแห่งโอโซนฟาร์ม กับแนวทางการจัดการฟาร์มผ่านพ้นวิกฤติ
ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะ Start Up สร้างธุรกิจให้ยืนยาวจนธุรกิจสามารถเลี้ยงตัวเองได้ ด้วยรายได้ดีงามในยุคสมัยที่มีแต่คู่แข่งผุดขึ้นมามากมาย และมีปัจจัยเสี่ยงเป็นตัวแปรรอบด้าน โดยเฉพาะการเดินหน้าธุรกิจท่ามกลางเศรษฐกิจขาลงและวิกฤติเศรษฐกิจช่วงโควิด-19 ที่ทำให้ทุนเล็กทุนใหญ่บอบช้ำ ไปจนถึงร่วงกันระนาว หากใจไม่แกร่ง วิสัยทัศน์ไม่กว้างไกล ปรับตัวได้ไม่ไว ต่อให้มีทุนหนาแค่ไหนก็มีสิทธิ์ม้วนเสื่อกลับบ้านกับสถานการณ์ที่มาไวจนยากจะตั้งรับได้ทัน หากแต่ไม่ใช่กับ พิเชษฐ กันทะวงค์ เจ้าพ่อเมล่อนแห่งโอโซนฟาร์ม
พิเชษฐ กันทะวงค์ เกษตรกรหนุ่มวัย 42 ปี ดีกรีปริญญาตรี เอกอารักขาพืช จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ ประธานกลุ่ม Young Smart Farmer จังหวัดเชียงราย พ่วงท้ายด้วยรางวัลเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี พ.ศ.2560 เจ้าของ โอโซน ฟาร์ม(Ozone Farm) รือ ฟาร์มเมล่อนแบบครบวงจรบริหารความเสี่ยงแบบยั่งยืน ด้วยการปลูกพืชที่ใครๆ ก็อยากกระโดดลงมาเล่นในกระดานกันอย่าง “เมล่อน” แบบที่ไม่ใช่ปลูกเพื่อขายผลผลิตเพียงอย่างเดียว แต่เน้นนำผลผลิตมาแปรรูปเป็นอาหารจานเด็ดพร้อมเสิร์ฟแขกที่เดินทางมาเยี่ยมชมฟาร์ม และท่องเที่ยวในเขตจังหวัดเชียงราย บนพื้นที่ 7 ไร่ 2 งาน ที่บ้านเลขที่ 35 หมู่ที่ 12 ซอย- ถนน พหลโยธิน ตำบล/แขวง แม่คำ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย โทร. 065-504-4495
พิเชษฐ กันทะวงค์ เกิดฟาร์มจากความรัก เปิดรับการท่องเที่ยวเชิงเกษตร :
โอโซนฟาร์มเปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 ภายใต้แนวคิด “แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรและร้านอาหาร” ทำการปลูกเมล่อนและฟิกซ์ เพื่อจำหน่ายผลสดและแปรรูปเป็นเมนูสุดอร่อยหลากหลายรายการพร้อมเสิร์ฟให้ทานทุกวันเวลา 9:00 – 20:00 น. ภายในร้านชื่อ “Green-Sweet Zone” ที่อยู่ในบริเวณฟาร์ม มีการคุมคุณภาพผลผลิตด้วยเทคโนโลยี loT ใช้พลังงานสะอาดจากโซลาร์เซล์และมีการวางแผนการเพาะปลูกแบบให้มีผลผลิตออกตลาดได้ทุกวัน ตลอดปี ภายใต้มาตรฐานความหวานของฟาร์มคือ 14-16 Brix ทุกผล เพื่อนำขึ้นเสิร์ฟในร้าน แกล้มอาหารสไตล์อิตาเลียน ในพื้นที่ฟาร์มที่มีอากาศบริสุทธิ์ สามารถสูดลมหายใจรับโอโซนบริสุทธิ์ได้เต็มปอด ทำให้ผู้มาเยือนรู้สึกอิ่มหนำทั้งใจกายได้ในคราวเดียว
กว่าจะมาเป็นโอโซนฟาร์ม ที่เริ่มต้นมาจากความสนใจในศาสตร์เกษตรตามทีได้เรียนมาซึ่งคุณพิเชษฐ กล่าวว่า “พื้นเดิมก่อนเข้ามาเรียนในระดับมหาวิทยาลัยก็มีใจรักในการเกษตรอยู่แล้ว ช่วงปิดเทอมก็ปลูกพืชผักอายุสั้น เช่น ฟักทอง แตงโม ไว้หลังบ้าน พอโตมาจึงเลือกเรียนสายเกษตรแบบไม่ลังเลกับสาขาอารักขาพืช เอกกีฏวิทยา ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ รุ่น 64 หลังเรียนจบ ได้เข้าทำงานที่บริษัทเอกชนชื่อดัง 2 แห่งด้วยกัน แห่งแรกเป็นบริษัทเจียไต๋ จำกัด ทำหน้าที่ทดสอบสายพันธุ์ต่างประเทศ และ บริษัท ทีเจซี เคมี จำกัด ในตำแหน่งรับขึ้นทะเบียนสารเคมีก่อนนำมาขายในประเทศ ชีวิตการทำงานช่วงแรกๆ จึงอยู่ในแวดวงสารเคมีเพื่อการกำจัดแมลงเสียเป็นส่วนใหญ่ จึงมีความคิดว่าถ้าเราปลูกพืช โดยใช้วิธีกลเข้ามาจัดการ เช่น การกางมุง การใช้ชีววิธี คงลดเรื่องการใช้สารเคมีลงไปได้ ซึ่งใช้ชีวิตในการทำงานตรงนี้เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์รวมแล้ว 12 ปีด้วยกันในปี พ.ศ.2555 จึงตัดสินใจทำฟาร์มเมล่อน ใช้ชื่อตามลูกสาวว่า “โอโซนฟาร์ม” ควบคู่ไปกับการทำอาหารที่มีเมนูหลักๆ มาจากเมล่อนและพืชผักที่ปลูกเอง เพราะตระหนักดีว่าเมล่อนและพืชผักเป็นพืชที่ใช้สารกำจัดศัตรูพืชมาก ในขณะเดียวกันก็เป็นผลไม้ที่มีคุณประโยชน์มาก และยังมีราคาคุ้มค่าต่อการลงทุน จึงได้ความคิดว่าถ้าเราทำเมล่อนให้มีคุณค่าและปลอดสาร ย่อมจะสนองตอบต่อตลาดผู้บริโภคได้ สิ่งที่สำคัญกว่านั้นก็คืออยากทำเป็นตัวอย่างให้ชาวบ้านดูว่าการทำเกษตรแบบปลอดสารนั้นทำอย่างไร? ทำในโรงเรือนทำอย่างไร? อยากจะใช้วิชาที่เรียนมาให้เป็นประโยชน์ต่อท้องถิ่น ซึ่งในทุกวันนี้ชาวบ้านก็เข้ามาหาเรามากขึ้น เทศบาลหรือเกษตรจังหวัดและเกษตรอำเภอก็มาดูงานกัน ตรงนี้นี่เองที่ทำให้มีความสุข และคิดว่าสิ่งที่เราทำนั้นมาถูกทางแล้ว”
ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยขับเคลื่อนการผลิต :
ปัจจุบันมีพื้นที่เพาะปลูกฟิกซ์และเมล่อนทั้งหมด 16 โรงเรือน(ขนาด 5×20 เมตร) ที่บริหารจัดการสั่งงาน Timer ตัวจ่ายปุ๋ย ให้น้ำอัตโนมัติ ด้วย IoT(Internet of Thing) และ Solar cell ทำให้การให้น้ำ ปุ๋ย ธาตุอาหาร และ จัดการดูแลฟาร์ม เกิดความแม่นยำ สะดวก รวดเร็ว สามารถควบคุมคุณภาพการผลิต ลดความเสียหายและความผิดพลาดจากการคำนวณหรือจัดการดูแลโดยคนลงไปได้ ผลผลิตที่ได้จึงมีคุณภาพตรงตามเป้าหมายทุกผล นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยในการลดต้นทุนด้านแรงงานลงไปได้มากจากเดิมที่ต้องใช้แรงงานช่วยดูแลฟาร์มทั้งหมด 5 คนก็เหลือเพียง 2 คน ซึ่งถ้าคิดเป็นเงินที่ต้องจ่ายให้คนงานต่อเดือนก็ตกราวสามหมื่นกว่าบาท เมื่อมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการแทนต้นทุนที่ต้องจ่ายในส่วนนี้จึงหายไปและมีการนำความรู้ที่ได้ศึกษาจากเทคโนโลยีของต่างชาติมาประยุกต์ใช้ในฟาร์ม เพื่อลดความซับซ้อนในขั้นตอนการให้ธาตุอาหารเมล่อน ด้วยเครื่องจ่ายปุ๋ยอัตโนมัติที่ทำงานคล้ายถังน้ำหมึกเครื่องพิมพ์แบบ Inkjet คนงานจึงทำงานง่ายขึ้น มีหน้าที่แค่ต้องเติมถังปุ๋ยเพียงอย่างเดียว เพราะเซ็ทค่าต่างๆ ผ่านคอมพิวเตอร์และ IoT ไว้เรียบร้อยแล้ว
“การตัดสินใจลดจำนวนคนงานเพื่อไปลงทุนกับเทคโนโลยีและระบบที่นำมาใช้ในการจัดการเมล่อน นั้นมีต้นทุนต่อโรงเรือนอยู่ที่ประมาณ 30,000 บาท นั่นเท่ากับค่าแรงว่าจ้างคนงานที่หายไป ถามว่าคุ้มค่ามั้ย ตอบได้ว่าคุ้มค่ามาก เพราะระบบที่นำมาใช้นั้นมีอายุยืนยาวอยู่ได้ไม่ต่ำกว่า 20 ปี นั่นเท่ากับได้ลดต้นทุนต่อเดือนไปถึงเดือนละสามหมื่นบาท” คุณพิเชษฐกล่าว
นอกจากนี้ยังมีการนำระบบโซลาร์เซลเข้ามาใช้เป็นแหล่งพลังงานภายในฟาร์ม โดยไม่พึ่งพาไฟฟ้าจากการไฟฟ้าทำให้ได้พลังงานสะอาดเข้ามาใช้ในระบบฟาร์มทั้งหมด ซึ่งช่วยลดต้นทุนเรื่องค่าไฟลงไปได้เดือนละอีกหมื่นกว่าบาท ทั้งนี้คุรพิเชษฐมองว่าการตอบรับเทคโนโลยีมีการนำเข้ามาประยุกต์ใช้ในการทำงานฟาร์ม ช่วยลดต้นทุน อำนวยความสะดวกและเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมีในยุคนี้จริงๆ จากต้นทุนที่ลดไปและมีผลผลิตดีขึ้นอีก 30%”
กลยุทธ์ที่ใช้ในการทำธุรกิจ :
สำหรับโอโซนฟาร์มนั้นเป็นธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่มีความต่างออกไปตรงที่ ไม่ได้มุ่งเน้นขายผลผลิตโดยตรงเพียงอย่างเดียว แต่นำมาแปรรูปทำเมนูอาหารขายในร้านด้วย ทำให้สามารถจับกลุ่มลูกค้าได้กว้าง มีทั้งนักท่องเที่ยว กลุ่มผู้ศึกษาดูงาน และลูกค้าร้านอาหารที่นอกจากขายหน้าร้านแล้วยังมีการขายในแอพลิเคชันด้วย ทำให้มีกลุ่มเป้าหมายกว้าง โดยในส่วนของผลผลิตหลักๆ จะนำมาใช้จำหน่ายในร้านอาหารและแบ่งบางส่วนจำหน่ายผ่านเว็บ และเพจมาตั้งแต่เริ่มต้น จึงมีฐานลูกค้าคงที่จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ ทำให้ในช่วงวิกฤติโควิด-19 สามารถประครองธุรกิจผ่านมาได้ จากการลดค่าใช้จ่าย พักงานคนงาน และเน้นจำหน่ายผลผลิตเป็นหลัก ในช่วงที่ร้านอาหารเปิดทำการไม่ได้ และมีจำนวนคนเดินทางท่องเที่ยวลดลง
“พอโควิด-19 มาทำให้เรารู้เลยว่ารายได้ทางเดียวไม่พอ จึงหันมาปรับเปลี่ยนเป็นขายผลผลิตแทนการนำมาแปรรูปจำหน่ายในร้าน เพื่อสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจ ด้วยคุณภาพที่คุมมาตลอดจึงมียอดขายเข้ามามาก ทำให้รอดมาได้ในขณะที่คู่แข่งร่วงระนาว เพราะเขามีสเกลใหญ่ และเน้นทำการเกษตรแบบแลนด์มาร์คเพื่อให้คนมาเช็คอิน ถ่ายรูป ถึงจะมีผลผลิตออกมาได้ก็ไม่มีคุณภาพ ขายใครไม่ได้ แล้วพอโควิดซาลงก็ได้ปรับในส่วนของโซนกลางแจ้งขึ้นมาเพิ่มเติม ตามการเรียกร้องของลูกค้าที่อยากมีพื้นที่ในการนั่งเล่นรับลม จึงได้เพิ่มในส่วนของฐานเรียนรู้การทำอาหาร DIY เข้าไปให้เด็กๆ ได้มาเล่น เรียนรู้เพิ่มทักษะ เช่น การทำพิซซ่าจากเตาถ่าน ก็ได้รับผลตอบรับกลับมาดีเพราะเราไม่หยุดที่จะพัฒนาหาอะไรมาแต่งเติมให้ทุกอย่างมันดีขึ้นหรือดีกว่าเดิม”
เขียน/เรียบเรียงโดย : มินยดา อนุกานนท์
——————————-
ภาพจาก : โอโซน ฟาร์ม
แหล่งอ้างอิง : บทสัมภาษณ์ คุณพิเชษฐ กันทะวงค์