พฤกษศาสตร์พืช หรือ Botany เป็นแขนงวิชาหนึ่งของวิชาชีววิทยา ที่ศึกษาเกี่ยวกับการเจริญเติบโตของพืช ทั้งเรื่องโครงสร้าง การเจริญเติบโต การขยายพันธุ์ และกระบวนการต่างๆ ของพืช ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นที่การจะทำสิ่งใดๆ จักต้องศึกษาในสิ่งนั้นๆ ให้ทะลุถ่องแท้ก่อนจึงจะประสบความสำเร็จ ดังคำกล่าวที่ว่า “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง” ของซุนวู ซึ่งเป็นนักการทหารและนักปกครองชั้นแนวหน้าสมัยชุนชิว เมื่อประมาณ 2400-2500 ปีก่อนระหว่างพุทธกาล นำมาใช้ได้กับทุกการ Start Up ไม่ว่าจะทำการเรื่องใดก็ควรต้องเรียนรู้จักเรื่องนั้นๆ ให้ทะลุปรุโปร่งไว้จะเป็นดีต่อการขับเคลื่อนไปข้างหน้า ดังนั้น เรื่องเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ไว้บ้าง เพื่อจะได้รับมือและทำความเข้าใจเกี่ยวกับการปลูกพืชให้ประสบความสำเร็จได้
13 พฤกษศาสตร์พืช (Botany) ฉบับย่อยง่าย แบบไม่ต้องปีนกะไดอ่าน
- พืชเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีการหายใจเข้า(ใช้คาร์บอนไดออกไซด์) และ หายใจออก (ได้ออกซิเจน) ผ่านรูทางปาก ใบ ลำต้นและราก พืชจึงเป็นสิ่งมีชีวิตสำคัญที่ทำให้สิ่งมีชีวิตอย่างมนุษย์และสัตว์อื่นๆ อาศัยอยู่บนพื้นโลกได้ เพราะเป็นแหล่งผลิตอ็อกซิเจนที่สำคัญ
- จากความสนใจในเรื่องพืชของบรรพบุรุษทำให้ปัจจุบันจำแนกสิ่งมีชีวิตในด้านพฤกษศาสตร์ได้มากกว่า 550,000 ชนิดหรือสปีชีส์
- พืชเป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถปรุงอาหารได้เอง จึงมีการปรุงแต่งอาหารมาเลี้ยงส่วนต่างๆ ผ่านท่อลำเลียงน้ำและอาหารในลำต้น(เหมือนเส้นเลือดมนุษย์)เพื่อ สร้าง กิ่ง ก้าน ลำต้น ใบ ราก ดอกผล ผ่านกระบวนการสังเคราะห์แสง โดยมีแม่ครัวที่มีสารสีเขียวซึ่งเราเรียกว่า คลอโรฟิลล์ ดังนั้น ทุกส่วนของพืชที่มีสีเขียวจึงจะสามารถสังเคราะห์แสงได้หมด เช่น รากของกล้วยไม้ที่มีสีเขียวก็ช่วยสังเคราะห์แสงได้ แต่การสังเคราะห์แสงของพืชจะเกิดขึ้นดีที่สุดคือที่ใบ
1. การสังเคราะห์แสง จะทำให้พืชได้อาหารที่พืชต้องการใช้ นำไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของต้นพืช โดยในกระบวนการสังเคราะห์แสงนี้พืชจะใช้ปัจจัยหลักๆ คือ น้ำ อากาศ(คาร์บอนไดออกไซด์-มีอยู่ในอากาศ) แสงแดด อุณหภูมิ
2.ในกระบวนการสังเคราะห์แสงของพืช จะได้ออกซิเจน คาร์โบไฮเดรต น้ำตาล กลูโคส น้ำ และพลังงานที่สะสมในรูปสารประกอบอินทรีย์ ซึ่งเป็นสารที่สิ่งมีชีวิตทั้งหลายใช้ในกระบวนการเมแทบอลิซึมหรือกระบวนการหายใจ เพื่อสร้างสารประกอบอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต
3.สารอินทรีย์ คือ สารที่มีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบหลักได้จากสิ่งที่มีชีวิต ถ้าสารอนินทรีย์คือสารที่ได้จากสิ่งที่ไม่มีชีวิต
4.และถึงแม้พืชจะปรุงแต่งอาหารได้จากกระบวนการสังเคราะห์แสง แต่ก็ยังคงไม่เพียงพอต่อการเติบโต พืชยังคงต้องการธาตุอาหารเพื่อการมีชีวิตเพิ่มเติมด้วย โดยเฉพาะธาตุอาหารหลัก ไนโตรเจน(N) ฟอสฟอรัส(P) โปแตสเซียม(K) นอกจากนี้พืชยังต้องการธาตุอาหารรอง ได้แก่ แคลเซียม (Ca),แมกนีเซียม (Mg), และ ซัลเฟอร์(กำมะถัน/S) และ ธาตุอาหารเสริม ได้แก่ แมงกานีส (Mn),คอปเปอร์ (ทองแดง) (Cu),คลอรีน (Cl), เฟอรัส (เหล็ก/Fe), โบรอน (B), ซิงค์ (สังกะสี) (Zn), โมลิบดินัม (Mo) ในสัดส่วนและปริมาณที่แตกต่างกันไปตามแต่ชนิดของพืช โดยสิ่งที่ควรให้ความสำคัญในการเพาะปลูกพืช เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีก็คือเรื่องของธาตุอาหารหลักและธาตุอาหารรอง ส่วนธาตุอาหารเสริมนั้นพืชต้องการในปริมาณที่น้อยมาก จึงไม่จำเป็นต้องให้ก็ได้
5.ทำไมต้องให้ปุ๋ยพืชที่ปลูกในดินหรือในน้ำ เพราะเมื่อระหว่างที่พืชเจริญเติบโต พืชก็มีการดึงแร่ธาตุอาหารในดินหรือในน้ำขึ้นไปใช้ในการสร้าง กิ่ง ก้าน ใบ ดอก ผล ลำต้น ตลอดเวลา แร่ธาตุในน้ำหรือดินจึงมีวันที่จะเจือจางหายไปได้ตลอดที่พืชเติบโต
6.พืชต้องการน้ำเพื่อทำให้เซลล์หรือส่วนต่างๆ เต่งตึง โดยน้ำจะทำหน้าที่เป็นตัวทำละลายธาตุอาหารให้รากพืชดูดไปใช้ประโยชน์ เคลื่อนย้ายธาตุอาหารในดินและควบคุมอุณหภูมิในดินให้ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก เพราะอุณหภูมิในดินที่สูงไปจะกระทบต่อรากพืช และการเจริญเติบโต
7.พืชบางชนิดชอบอากาศหนาวเย็น เมล็ดมีระยะเวลาการพักตัวก่อนจะงอกหรือต้องกระตุ้นการงอกด้วยเทคนิคแตกต่างกันไป เช่น พืชที่มีต้นกำเนิดมาจากเมืองหนาว ที่แม้จะได้รับการปรับปรุงพันธุ์ให้มีการปรับตัวได้ดีในสภาพแวดล้อมของประเทศไทยเรา จนสามารถปลูกได้ในพื้นที่ที่มีอากาศร้อนได้แล้ว ก็ยังคงต้องการอากาศหนาวเย็นเพื่อกระตุ้นให้เกิดการงอกของเมล็ด ติดดอกออกผลหรือเติบโต ต้องการแสงแดดช่วงกลางวันสั้นกว่าพืชเมืองร้อน เช่น ผักสลัด พืชตระกูลกะหล่ำ ส่วนพืชเมืองร้อนคือพืชที่สามารถเติบโตได้ตามปกติในประเทศไทยโดยไม่ต้องพึ่งเทคนิคอะไรมาก เพราะบ้านเรานั้นเป็นเมืองร้อนอยู่แล้ว
8.เมล็ดพืชหลายชนิดจะมีระยะพักตัวก่อนงอก ซึ่งเป็นกลไกลในการป้องกันตัวเองของพืช เพื่อหลีกเลี้ยงสภาพอากาศแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ทั้งนี้ก็เพื่อรักษาตัวเองให้รอดในการจะอยู่ขยายเผ่าพันธุ์ยาวนานต่อไป โดยเมล็ดพืชแต่ละชนิดจะพักตัวนานเท่าไหร่นั้นขึ้นอยู่กับชนิดของพืช
9.ในการงอกของเมล็ดนั้นต้องการความชื้นจากน้ำ อุณหภูมิที่เหมาะสม ปริมาณออกซิเจน แสงสว่าง และการมีชีวิตอยู่ของเมล็ดนั้นๆ ในพืชบางชนิดจะงอกไว บางชนิดงอกช้า แต่การนำเมล็ดมากระตุ้นความงอก เช่น นำเมล็ดสลัดใส่ภาชนะปิดมิดชิดแช่ไว้ในช่องแช่ผักของตู้เย็น 1-2 คืน ก็จะช่วยทำให้เมล็ดสลัดซึ่งเป็นพืชเมืองหนาวเกิดการงอกได้ไวขึ้น บางชนิดหากลอกเปลือกหุ้มเมล็ดออกแล้วนำไปเพาะจะงอกไวขึ้น หรือการนำเมล็ดน้อยหน่า มะขาม มะละกอ หน่อไม้ฝรั่ง ข้าว ผักชีไปแช่ในน้ำอุ่นหรือน้ำเย็น 1-2 วัน จะทำให้งอกไวขึ้น
10.รากพืชต้องการอากาศในการเติบโตเช่นเดียวกับใบ ไม่ว่าจะปลูกพืชในน้ำหรือในดินก็ต้องการอากาศเช่นกัน ดังนั้น การที่ทำให้ดินโปร่งร่วนซุย จึงทำให้รากพืชเจริญเติบโตได้ดี พืชงอกงาม และการเติมปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปุ๋ยอินทรีย์ต่างๆ นอกจากจะไปช่วยเพิ่มแร่ธาตุในดินได้แล้วยังช่วยปรับปรุงโครงสร้างของดินให้มีความโปร่ง ร่วนซุยอากาศถ่ายเทได้ดี ทำให้รากเจริญดี หาอาหารได้คล่องหรือเก่งขึ้นด้วย
11.รากพืชเป็นชิ้นส่วนสำคัญที่พืชใช้ในการหาอาหาร และแร่ธาตุในดิน โดยพืชจะดูดซึมแร่ธาตุอาหารในดินผ่านขนราก(รากฝอยเล็กๆ ที่ขึ้นรอบๆ ราก จนดูเหมือนขน) และรากส่วนปลาย ดังนั้นการให้ปุ๋ยหรือน้ำแก่พืชควรให้บริเวณปลายรากพืชจะดูดซึมไปใช้งานได้ดี เพราะให้ตรงจุดหรือตรงปากพืช โดยสามารถสังเกตปลายรากพืชได้จากขนาดของทรงพุ่มพืช เนื่องจากมันสัมพันธ์กัน
12.หากรากพืชได้รับการกระทบกระเทือน อาจจะเกิดความบอบช้ำ ซึ่งจะส่งผลทำให้พืชชะงักการเจริญเติบโต-ตายได้
13.พืชมีการหายใจอยู่ตลอดเวลาไม่ว่าจะช่วงที่เติบโตหรือเก็บเกี่ยวมาแล้ว ดังนั้นการหายใจของพืชหลังการเก็บเกี่ยว จึงเป็นการดึงพลังงานที่สะสมอยู่ของพืชมาใช้ จึงทำให้ผลผลิตพืชหลังเก็บเกี่ยวมาเสื่อมคุณภาพลง จึงจำเป็นต้องหาวิธีลดกระบวนการหายใจของพืชให้น้อยหรือช้าลง เช่น ใช้ความเย็น หรือแม้แต่การเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงที่สุกแก่ได้ 70-80% เพื่อให้สะดวกต่อการขนส่งลดการบอบช้ำ และยืดอายุระหว่างรอจำหน่ายได้ เป็นต้น
เรื่อง/ภาพโดย : Kasetintrend.com