ทุเรียนหมอนทองชุมพร ราชาทุเรียนใต้ ที่ได้มาจากภูมิศาสตร์เด่นของจังหวัด
ทุเรียนหมอนทองชุมพร มีเอกลักษณ์อันโดดเด่นที่ไม่เหมือนหมอนทองจังหวัดอื่น คือ มีผลสีเขียวสด มีขั้วแข็งเป็นเนื้อไม้ ปลายหนามแห้ง บีบยุบเข้าหากันได้เมื่อใกล้สุก ร่องหนามมีรอยประสานสีน้ำตาล เนื้อหนาเนียนละเอียด เนื้อสีเหลืองอ่อน กลิ่นอ่อน รสชาติหวานมันเข้มข้น
เมื่อเอ่ยถึงทุเรียนที่ตลาดให้ความสนใจได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงทั้งในประเทศและต่างประเทศ คงหนีไม่พ้นทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ที่มี เนื้อหนา เมล็ดลีบ กลิ่นไม่แรง ติดผลดี ผลสุกเก็บได้นานกว่าพันธุ์อื่น เมื่อสุกงอมเนื้อไม่แฉะ ไม่ค่อยพบอาการแกน เต่าเผาหรือไส้ซึม จึงมีคุณภาพเนื้อเหมาะสำหรับการแปรรูป ในรูปแบบของการแช่แข็ง กวน และทอดกรอบ และกลายเป็นสายพันธุ์การค้าที่มีการปลูกมากที่สุดในประเทศไทย โดยมีพื้นที่ปลูกมากสุดที่จังหวัดจันทบุรี รองลงมาเป็นพื้นที่จังหวัดชุมพร ซึ่งมีพื้นที่ปลูกในปี 2565 ทั้งหมด 260,768 ให้ผลผลิตแล้ว 216,141 และในปีนี้มีการคาดการณ์ว่าจะมีผลผลิตออกสู่ประมาณ 286,258 ตัน
เอกลักษณ์เด่นของ ทุเรียนหมอนทองชุมพร
โดยพื้นที่ในเขตอำเภอสวี พบว่ามีการปลูกทุเรียนหมอนทองมากที่สุดคือ 62,367 ไร่ ให้ผลผลิตแล้ว 55,278 รองลงมาเป็นอำเภอท่าแซะ 56,627 ไร่ ให้ผลผลิตแล้ว 49,735 ไร่ ลำดับ 3 คือ อำเภอพะโต๊ะ 35,477 ไร่ ให้ผลผลิต 26,642 ไร่ ลำดับ4 ทุ่อำเภอทุ่งตะโก มีพื้นที่ปลูก 30,608ให้ผลผลิตแล้ว 25,086 ไร่ ลำดับ 5 อำเภอหลังสวน 32,846 ไร่ ให้ผลผลิต 23,133 ไร่ ลำดับ 6 เมืองชุมพร มีพื้นที่ปลูก 27,809 ไร่ ให้ผลผลิตแล้ว 25188 ไร่ ลำดับ 7 อำเภอละแม มีพื้นที่ปลูก 8,202 ไร่ ให้ผลผลิตแล้ว 6295 ไร่ และลำดับสุดท้าย คืออำเภอปะทิว 6,751 ไร่ให้ผลผลิตแล้ว 4,784 ไร่
จังหวัดชุมพรมีพื้นที่ทั้งสิ้น 6,011 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่เกษตรกรรม 2,842 ตารางกิโลเมตร ซึ่งคิดเป็น 47% ของพื้นที่ทั้งหมด โดยมีประชากรประกอบอาชีพเกษตรกรมากถึง 97,390 ครัวเรือน อาชีพเกษตรจึงเป็นอาชีพหลักของประชากรส่วนใหญ่ในจังหวัดชุมพร โดยภาคเกษตรกรรมเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจภายในจังหวัด และมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับเป็นพื้นที่เหมาะสมต่อการปลูกทุเรียนเนื่องจากดินน้ำอุดมสมบูรณ์และภูมิอากาศ และได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ทีทำให้จังหวัดชุมพรมีเพียง 2 ฤดู คือ ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ – กลางเดือนพฤษภาคม และ ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม – กลางเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จากทะเลอันดามันเป็นมวลอากาศที่มีความชื้นสูง และเปลี่ยนเป็นลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ จึงทำให้เกิดฝนตกชุก มีปริมาณน้ำฝนอยู่ในช่วง 1,553-2,344 มิลลิเมตรน้ำท่าจึงมีมากพอต่อความต้องการใช้ในการเติบโตของทุเรียนหมอนทอง
ทุเรียนหมอนทองชุมพร :
ปัจจุบัน (ปี2565) จังหวัดชุมพร มีพื้นที่ปลูกทุเรียนทั้งหมด 246,580 ไร่ จากเกษตรกร 25,749 ครัวเรือน มีผลผลิตรวม 343,900 ตัน คิดเป็นผลผลิตเฉลี่ยเท่ากับ 1,658 กิโลกรัมต่อไร่ และมีผลผลิตออกมาสุดในปี 2565 คือช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม คิดเป็นร้อยละ 32.86 และ 25.46 ตามลำดับ ทำให้ทุเรียนหมอนทอง เป็นพืชเศรษฐกิจหลักของจังหวัดชุมพร ที่สามารถสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัดในปี 2564 ให้มีมูลค่าได้ถึง 42,643,600,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 37.78 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งหมด แม้ว่าเกษตรกรชาวจังหวัดชุมพร จะปลูกทุเรียนหลากหลายสายพันธุ์ โดยสายพันธุ์ทุเรียนที่นิยมปลูกส่วนใหญ่ ร้อยละ 90 คือ ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 10 เป็นทุเรียนพันธุ์ชะนี พันธุ์ก้านยาว และทุเรียนพันธุ์พื้นบ้าน อยู่บ้างแต่ก็เป็นส่วนน้อย เนื่องจากทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ที่เกษตรกรนิยมปลูกนั้นเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งภายในและภายนอกประเทศทุเรียนชุมพรมี โดยทุเรียนหมอนทองชุมพร จะสุกแก่ช้ากว่าทุเรียนหมอนทองภาคตะวันออก 2 เดือน ซึ่งจะสุกแก่ในช่วงฤดูฝน เมื่อต้นทุเรียนเจอน้ำฝนดี ก็จะทำให้ได้ผลใหญ่ใหญ่ เปลือกออกหนาเล็กน้อย
ภาคการผลิตนั้นเกษตรกรมีการรวมกลุ่มการผลิตกันเป็นเกษตรแปลงใหญ่ภายใต้การกำกับดูแลที่เคร่งครัดของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ผลผลิตทุเรียนคุณภาพ เนื้อหนานุ่ม หวาน มัน ปลอดภัย ได้มาตรฐาน GAP จึงเป็นที่ต้องการของตลาด เพราะสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค เนื่องจากทุเรียนทุกผลจะมีอายุการเก็บเกี่ยวที่ 120 วัน หลังดอกบาน ทำให้มั่นใจได้ว่าเป็นทุเรียนแก่จัด มีคุณภาพ หวาน มัน เหมาะแก่การบริโภค เน้นการจัดการแปลงแบบผสมผสาน ปัจจุบันทุเรียนชุมพรมีผลผลิตกระจายเข้าสู่ตลาดเกือบทั้งปี สร้างรายได้หมุนเวียนเข้าสู่ท้องถิ่น ไม่ต่ำกว่าปีละ 6,000 ล้านบาท
ลักษณะประจำพันธุ์ทุเรียนหมอนทอง :
ลักษณะเด่น เนื้อหนา เมล็ดลีบ กลิ่นไม่แรง ติดผลดี ผลสุกเก็บได้นานกว่าพันธุ์อื่น (เมื่อสุกงอมเนื้อไม่แฉะ) ไม่ค่อยพบอาการแกน เต่าเผาหรือไส้ซึม คุณภาพเนื้อเหมาะสำหรับการแปรรูป ในรูปแบบของการแช่แข็ง กวน และทอดกรอบ
ลักษณะด้อย ไม่ทนทานต่อรากเน่า โคนเน่า เนื้อหยาบ สีเนื้อเหลืองอ่อน (ไม่เข้ม) มักพบการสุกไม่สม่ำเสมอ อาจสุกทั้งผล สุกบางพู หรือสุกบางส่วนในพูเดียวกัน
สภาพดิน ควรเป็นดินร่วน ดินร่วนปนทราย ดินเหนียวปนทรายที่มีการระบายน้ำได้ดี และมีหน้าดินลึก เพราะทุเรียนเป็นพืชที่อ่อนแอต่อสภาพน้ำขัง และความเป็นกรดด่างของดินอยู่ระหว่าง 5.5 ถึง 6.5 หากจำเป็นต้องปลูกทุเรียนในสภาพดินทราย จำเป็นจะต้องนำหน้าดินจากแหล่งอื่นมาเสริม ต้องใส่ปุ๋ยคอกรวมถึงต้องมีการดูแลเรื่องการให้น้ำมากเป็นพิเศษ และแหล่งน้ำต้องเพียงพอตลอดปี
อุณหภูมิและความชื้น ทุเรียนชอบอากาศร้อนชื้น อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ในช่วงประมาณ 25 ถึง 30 องศาเซลเซียส มีความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศประมาณ 75 ถึง 85 เปอร์เซ็นต์ หากปลูกในพื้นที่ที่มีอากาศแห้งแล้ง พื้นที่ที่มีอากาศร้อนจัดเย็นจัด และมีลมแรง จะพบปัญหาใบไหม้หรือใบร่วง ทำให้ต้นทุเรียนไม่เจริญเติบโตหรือเติบโตช้าให้ผลผลิตช้าและน้อยไม่คุ้มต่อการลงทุน
ด้วยคุณลักษณะนิสัยประจำพันธุ์ของทุเรียนหมอนทอง จึงเหมาะสมต่อพื้นที่ปลูกในเขตจังหวัดชุมพรที่มีดินน้ำสมบูรณ์ตลอดปี นี่จึงเป็นสิ่งสำคัญทีทำให้ทุเรียนหมอนทองชุมพรที่ได้มีคุณภาพ รสชาติดี ตลาดต่างประเทศและในประเทศต่างต้องการ จนเกิดความเคลื่อนไหวของนายทุน ที่เป็นล้งจีนได้เข้ามาลงทุนธุรกิจทุเรียนในจังหวัดชุมพรจำนวนมาก ทั้งลงทุนทำสวนทุเรียน ลงทุนโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปทุเรียน สำหรับโรงงานทุเรียน โดยภาพรวมมีไม่ต่ำกว่า 100 โรง ทั้งโรงงานทุเรียนแปรรูป และโรงงานทุเรียนสด ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโรงงานทุเรียนสด เนื่องจากมีการส่งทุเรียนสดเป็นส่วนใหญ่หรือประมาณ 90% ไปประเทศจีน และอีกประมาณ 10% เป็นโรงงานแปรรูป ทั้งนี้โรงงานจะมีการรับซื้อทุเรียนจาก 14 จังหวัดภาคใต้ ส่วนการลงทุนทำสวนทุเรียน นักลงทุนจากประเทศจีน ได้หาพื้นที่ปลูกขั้นต่ำรายละ 50-100 ไร่
เพราะความต้องการของตลาดต่างประเทศ ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งทุเรียนสดและผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะตลาดจีน ซึ่งมีความต้องการบริโภคทุเรียนสดจากไทย ประกอบกับการพัฒนาระบบการขนส่งและโลจิสติกส์ของจีนที่รองรับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีการซื้อสินค้าออนไลน์กันมากขึ้น จึงช่วยให้ผู้บริโภคของจีนในมณฑลต่าง ๆ เข้าถึงการบริโภคทุเรียนได้ง่ายและสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น(ประชาชาติ,2564 )ชุมพรจึงเป็นแหล่งที่มีล้งรับซื้อทุเรียนที่ใหญ่ที่สุดของภาคใต้ในขณะนี้.
เขียน/เรียบเรียงโดย : Kasetintrend.com
แหล่งอ้างอิง
http://www.chumphon.doae.go.th/?page_id=1214
https://www.thairath.co.th/news/local/south/2394581
https://www.arda.or.th/kasetinfo/south/durian/controller/01-13.php