ข้าวกระทบหนาว กับ 6 สัญญาณที่ข้าวแสดงอาการและวิธีกู้ชีพ
สภาพอากาศของประเทศไทยที่เริ่มเย็นตัวลงตั้งแต่ วันที่ 7 พฤศจิกายน 2564 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อนแล้วตามมาด้วยภูมิภาคอื่นๆ จากความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้มีกำลังอ่อนลง ทำให้สภาพอากาศมีความหนาวเย็นขึ้นไปจนถึงปลายเดือนมกราคม 2565
โดย “พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า จากการคาดหมายลักษณะอากาศช่วงฤดูหนาวของประเทศไทย พบว่าช่วงเวลาที่อากาศจะหนาวเย็นที่สุด จะเริ่มตั้งแต่กลางเดือน ธ.ค. 64 – ปลายเดือน ม.ค. 65 คาดว่าจะมีพื้นที่จังหวัดที่มีโอกาสเกิดอากาศหนาว รวม 55 จังหวัด แบ่งเป็น ภาคเหนือ 17 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ภาคกลาง 14 จังหวัด และภาคตะวันออก 4 จังหวัด
จากสภาพอากาศหนาวเย็นที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพืชหลายชนิด โดยเฉพาะข้าวปลูกที่ราคากำลังดีในตลาดซื้อขายปัจจุบันทั้งในประเทศและต่างประเทศ และคาดว่าจะยังคงดีต่อเนื่องไปคลอดปี 2565 จากความต้องการข้าวไทย
นายชาตรี บุญนาค ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า กรมการข้าวมีความเป็นห่วงเกษตรกรที่ปลูกข้าว เนื่องจากขณะนี้สภาพอากาศเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงหลายพื้นที่ มีอุณหภูมิลดต่ำลง ทำให้ประสบกับปัญหา“ข้าวกระทบหนาว” ส่งผลให้ได้ผลผลิตไม่เต็มที่ โดยพันธุ์ข้าวที่มีความอ่อนแอต่อสภาพอากาศหนาวเย็นนั้น ได้แก่ พันธุ์สุพรรณบุรี 3 ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับข้าวทุกระยะ
โดยอุณหภูมิที่มีผลกระทบต่อผลผลิตข้าว คือ อุณหภูมิในช่วงกลางคืนที่ต่ำกว่า15 °C ในระยะ 10-14 วันก่อนออกดอกและอุณหภูมิวิกฤติที่มีผลกระทบต่อการผสมเกสรข้าว คือ 15-20 °C นอกจากนี้ พันธุ์ชัยนาท 1 ปทุมธานี 1
และพิษณุโลก 2 ยังเป็นพันธุ์ที่อ่อนแอต่อสภาพอากาศหนาวเย็นด้วยเช่นกัน เกษตรกรผู้ปลูกข้าว สามารถสังเกตอาการของข้าวที่ได้รับผลกระทบจากอากาศหนาวเย็นได้จาก 6 สัญญาณอาการ ดังนี้
- ข้าวเริ่มแสดงอาการใบเหลืองให้เห็น ในทุกระยะการเติบโต โดยปลายใบจะเริ่มแห้งคล้ายโรคขอบใบแห้ง ซึ่งมีผลมาจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นนั้น ไม่เอื้อต่อการสังเคราะห์แสงและการเจริญเติบโตของข้าว
- มักพบโรคใบจุดสีน้ำตาล เนื่องจากต้นข้าวขาดธาตุอาหารในช่วงอากาศเย็นทำให้อ่อนแอต่อโรค
- ข้าวเกิดอาการแห้งตายทั้งแปลงนา ไม่ว่าจะเป็นข้าวในระยะไหนก็แสดงอาการยืนต้นแห้งตายยกแปลงได้ หากเจอกับสภาพอากาศหนาวเย็นที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง
- ข้าวมีอาการแคระแกร็น ไม่โต เพราะขบวนการสังเคราะห์แสงชะลอตัวทำงานได้ไม่เต็มที่จากอุณหภูมิที่ลดลง ขบวนการต่าง ๆ ทั้งการคายน้ำ การดูดธาตุอาหาร การสังเคราะห์แสง การพัฒนาการในต้นข้าวจึงทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพ
- ข้าวออกรวงได้ไม่สุดคอรวง โดยเฉพาะพันธุ์ที่คอรวงสั้น จะเห็นรวงโผล่ไม่พ้นกาบใบ ปลายรวงในส่วนที่โผล่เหนือกาบใบธงตั้ง ไม่โน้มรวง ส่วนโคนรวงถึงกลางรวงที่ถูกห่อหุ้มด้วยกาบใบ ทำให้เกิดเมล็ดลีบฝ่อบางเมล็ด จนถึงเกือบหมดรวง เกสรตัวผู้เป็นหมัน ทำให้เมล็ดไม่เต็ม ปลายรวงลีบฝ่อ เพราะข้าวไม่ผสมเกสรหรือพัฒนาได้ไม่เตมที็ม็มที่
- ออกรวงช้า รวงไม่สม่ำเสมอ ก้านช่อดอกหดสั้น
แนวทางการป้องกันแก้ไขปัญหา “ข้าวกระทบหนาว”
1. ในช่วงที่มีสภาพอากาศเย็นจัด มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดความเสียหายกับผลผลิตในนาข้าว เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการปลูกข้าวในเดือนกันยายน – พฤศจิกายน หรือ จัดช่วงเวลาปลูกไม่ให้กระทบ อากาศหนาวเย็นในช่วงตั้งท้อง – ออกรวง (กลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดนนทบุรี,พ.ศ.2557)
2. ใช้พันธุ์ข้าวที่ทนต่อสภาพอากาศหนาว ได้แก่ พันธุ์ชัยนาท 1 กข31 พันธุ์ กข41 และ พันธุ์ กข43
3. หลีกเลี่ยงพันธุ์ข้าวที่อ่อนแอต่อสภาพอากาศหนาวเย็น ได้แก่ พันธุ์ ปทุมธานี 1 พันธุ์ กข29 พันธุ์ข้าวพิษณุโลก 2 และ สุพรรณบุรี 3
4.ฉีดพ่นฮอร์โมน (NAA, ไซโตไคนิน หรืออื่นๆ) เพื่อกระตุ้นให้ข้าวออกรวง
เขียน/เรียบเรียงโดย : Kasetintrend.com