การปลูกแตงกวา คัมภีร์วิถีแตงกวา ปลูกแล้วสำเร็จ Success ทุกกรณี

แตงกวา (Cucumber) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cucumis sativus L. เป็นพืชตระกูลแตง วงเดียวกันกับ ฟัก แฟง บวบ มะระ น้ำเต้า แตงโม อยู่ในวงศ์ CUCURBITACEAE มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย เป็นพืชปลูกอายุการเก็บเกี่ยวสั้น เฉลี่ย 30-45 วันได้รับความนิยมบริโภคไปทั่วโลก เน้นบริโภคเป็นผักสด เครื่องเคียงอาหารจานหลัก จิ้มน้ำพริก ใส่สลัด สามารถเพาะปลูกได้ตลอดปี ตลาดต้องการสูง ตลอดปี มีหลากหลายสายพันธุ์ให้เลือกปลูก เป็นพืชต้องการน้ำน้อย ตลอดอายุการเพาะปลูก มีความต้องการใช้น้ำประมาณ 560–640 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ต่อฤดูกาลผลิต ราคาที่เกษตรกรขายได้โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 8-15 บาทต่อกิโลกรัม (กรมส่งเสริมการเกษตร,2561)
ต้นทุนการผลิตต่อไร่ : สำหรับการปลูกแตงกวาแต่ละรุ่นนั้นมีต้นทุนในการผลิตต่อไร่ ดังนี้ (คำนวณจากราคาวัสดุ ปี 2561)
– ค่าไถพรวนดิน 400 บาท
– ค่าเมล็ดพันธุ์แตงกวา 380-750 บาท
-ค่าปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยอินทรีย์ 1,000 กก. 3,000 บาท
– ค่าปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 จำนวน 1 กระสอบ 1,100 บาท
– ค่าตาข่ายทำค้าง 1,350 บาท
– ค่าฮอร์โมนและสารกำจัดศัตรูพืช 1,500 บาท
– ค่าถุงพลาสติกใส่ผลผลิต 500 บาท
– ค่าเครื่องสูบน้ำ จำนวน 1 เครื่อง 8,000 บาท(*ลงทุนในครั้งแรก)
– ค่าระบบน้ำ 7,000 บาท(*ลงทุนในครั้งแรก)
– ค่าถังน้ำยา 1 ถัง 2,000 บาท(*ลงทุนในครั้งแรก)
รวมต้นทุนโดยประมาณ 25,530 บาท
(ศูนย์วิทยบริการเพื่อส่งเสริมการเกษตร,2561)
ลักษณะเฉพาะของแตงกวา :
เป็นพืชผสมข้ามที่มีอัตราการผสมตัวเองอยู่ที่ 1-47% ฉะนั้นจำเป็นต้องอาศัย ลม แมลง และคนในการช่วยผสมเกสร เป็นพืชที่มีดอกเพศผู้และดอกเพศเมียแยกดอกแต่อยู่ภายในต้นเดียวกัน เป็นพืชฤดูเดียว เถาเลื้อยหรือขึ้นค้าง จำต้องทำค้างและช่วยจัดเถาให้ขึ้นค้าง
ราก – ระบบรากเป็นระบบรากแก้ว (tap root system) รากแขนงเปนจํานวนมาก รากสามารถแผ่ทางด้านกว้างและหยั่งลงได้ลึกถึง 1 เมตร
ต้นและใบ – เป็นเถาเลื้อยเหลี่ยม มีขนขึ้นปกคลุมทั่วไป มีข้อยาว 10-20 ซม. มือเกาะเกิดออกมาตามข้อโดยส่วนปลายของมือเกาะไม่มีการแตกแขนงเป็นหลายเส้นใบมีก้านใบยาว 5-15 ซม. ใบหยาบมีขนใบมีมุมใบ 3-5 มุม ปลายใบแหลม ใบใหญ่แบบ palmate มีเส้นใบ 5-7 เส้น
ดอก– ดอกเพศเมียเป็นดอกเดี่ยวเกิดจากบริเวณมุมใบหรือข้อมีกลีบเลี้ยงสีเขียว 5 กลีบ กลีบดอกสีเหลือง 5 กลีบ รังไข่มีลักษณะกลมยาว 2-5 ซม. มีปุมนูนของหนามและขนชัดเจนส่วนของยอดเกสรตัวเมียมี 2-5 แฉก ส่วนดอกเพศผู้อาจเป็นดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อ มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอกเหมือนดอกเพศเมีย ละอองเกสรตัวผู้ 3 อัน และมีก้านชูเกสรสั้นๆดอกเพศเมียและดอกเพศผู้บานในตอนเช้าและพร้อมรับการผสมเกสรดอกจะหุบตอนบ่ายภายในวันเดียวกัน
การเกิดดอก – การเกิดดอกตัวเมียนั้นขึ้นอยู่กับช่วงแสงและอุณหภูมิกล่าว คือ จะเกิดดอกตัวเมียมากกว่าดอกตัวผู้ในสภาพช่วงแสงสั้นและมีอุณหภูมิกลางคืนตํ่า ซึ่งตรงกับฤดูหนาวของเมืองไทย และจะเกิดดอกตัวผู้มากหรือดอกตัวเมียสามารถเปลี่ยนเป็นดอกตัวผู้ได้ในช่วงแสงยาว หรือในช่วงหน้าร้อน-ฝนของไทย
ผล– ผลของแตงกวามีลักษณะกลมยาวทรงกระบอก ความยาวผลระหว่าง 5-40 ซม. มีไส้ภายในผลปัจจุบันพันธุ์การคค้าในต่างประเทศมีการปรับปรุงพันธุ์ที่สามารถติดผลได้ โดยไม่ได้รับการผสมเกสร ภายในผลจึงไม่มีไส้ เนื้อกรอบ และนํ้าหนักต่อผลสูงนิยมทั้งบริโภคผลสดแปรรูป สีผลมีสีขาว เขียวอ่อน เขียว และเขียวเข้มดํา สีหนามสีขาว แดง นํ้าตาล และดํา
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการปลูกแตงกวา :
อุณหภูมิ – ที่เหมาะสมต่อการงอกของเมล็ดอยู่ระหว่าง 25-30 องศาเซลเซียส สามารถเจริญเติบโตได้ผลดีระหว่างอุณหภูมิ 20-30 องศาเซลเซียส อุณหภูมิกลางวัน 22-28 องศาเซลเซียส แตงกวาจะชะงักการเจริญเติบโต สําหรับอุณหภูมิที่เหมาะสมกับการผสมเกสรนั้นอยู่ระหว่าง 17-25 องศาเซลเซียส
ความต้องการน้ำ – ต้องการไม่มาก แต่ขาดไม่ได้ มีความต้องการใช้น้ำประมาณ 560–640 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ต่อฤดูกาลผลิต
ดินที่เหมาะสม – นดินร่วนปนทราย มีการระบายนํ้าดีควรมีความเป็นกรด ด่าง (pH) อยู่ระหว่าง 5.5-6.5 ในสภาพดินที่เป็นดินทรายจัด หรือเหนียวจัด จําเป็นต้องปรับปรุงบํารุงดินก่อนการปลูกด้วยปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวแล้วและสภาพความเป็นกรดด่าง
การปลูกแตงกวา :
การเตรียมดิน – ก่อนการปลูกแตงกวาควรทําการไถพรวนดินตากไว้ประมาณ 7-14 วันเพื่อทําลายวัชพืช และศัตรูพืชบางชนิดที่อยู่ในดิน จากนั้นจึงไถพรวนเก็บเอาเศษวัชพืชออกอีกครั้งหนึ่ง
การเตรียมแปลง – ยกร่องแปลงขนาดกว้าง 1 เมตร * ความยาวตามพื้นที่ปลูก ระยะระหว่างแถว 1 เมตร ใช้ระยะปลูก 50*80 ซม. จำนวน 2 แถว ตีหลุมปลูกไม่ต้องลึกมาก หรือใช้พลาสติกคลุมดินเพื่อควบคุมวัชพืชและเจาะหลุมปลูก
การปลูก – ปลูกแบบหยอดเมล็ดและถอนแยก โดยรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกและเคมีสูตร 15-15-15 ครึ่งช้อนชา คลุกเคล้ากับดินก้นหลุมให้เข้ากัน ก่อนหยอดเมล็ด 2- 3 เมล็ด/หลุมและกลบหลุมบางๆ เมื่อต้นกล้างอกจนมีใบจริงคู่แรกให้ทำการถอนแยก เหลือต้นที่แข็งแรง 2 ต้น/หลุม
การคัดเลือกเมล็ด – เลือกพันธุ์ที่ชอบ เชื่อถือได้ มีการคลุกสารเคมีป้องกันแมลงเคลือบไว้เพื่อป้องกันศัตรูพืชเข้าทำลายเมล็ดในขณะที่ยังไม่งอก
การบ่มเมล็ด – จะช่วยย่นระยะเวลาในการงอกของต้นกล้าให้เร็วขึ้น โดยแช่เมล็ดในน้ำอุ่นนาน 4 ชั่วโมง – 1 คืน จึงนำขึ้นจากน้ำใส่ผ้าขาวบางที่ชุบน้ำบิดหมาดๆ แล้วห่อวางไว้ในกล่องพลาสติกใสแบบมีฝาปิดมิดชิด วางไว้ในสภาพอุณหภูมิห้องนาน 24 ชั่วโมง จะพบตุ่มรากงอกยาวออกมาแล้วจึงนําไปเพาะลงดินหรือถุงดำต่อไป
การดูแลต้นกล้า – ถ้าปลูกแบบหยอดเมล็ดให้ทำการถอนแยกเหลือหลุมละ 2 ต้นเมื่อมีอายุได้ 7-14 วันหรือมีใบจริงคู่แรกงอกออกมา หากเพาะต้นกล้าในถุงดำ รอจนต้นกล้ามีใบจริงคู่ที่ 2 แล้วจึงทำการย้ายปลูกลงหลุม ในช่วงเย็นแดดอ่อน หรอืประมาณ 17.00 น.
การให้น้ำ – รดน้ำทันทีหลังย้ายกล้าลงปลูก และรดทุกวันเช้าเย็น นับตั้งแต่หยอดเมล็ด ซึ่งระบบการให้น้ำแตงกวาที่เหมาะสมคืการปล่อยให้น้ำตามร่องปลูก เพื่อลดการเปียกชื้นของใบ ทำให้ใบไม่เกิดโรคง่าย ในระยะแรกก่อนแตงเลื้อยขึ้นค้างควรให้น้ำทุกวัน เช้า-เย็น จากนั้นพิจารณาให้น้ำตามความเหมาะสม หรือตามสภาพความชื้นสะสมภายในแปลง
การให้ปุ๋ย – แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะเตรียมดินรองก้นหลุมก่อนปลูก ใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 20-30 กก./ไร่ ร่วมกับปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักรองก้นหลุมก่อนปลูกอัตรา 1-2 ตันต่อไร่ ระยะที่ 2 ใส่ปุ๋ยยูเรีย ในอัตรา 20 กก./ไร่ หลังย้ายปลูกได้ 7 วัน หรือการถอนแยกต้นกล้าในการหยอดหลุมปลูก และ ระยะที่ 3 ใส่เมื่อต้นแตงกวามีอายุได้ประมาณ 25 วัน หลังย้ายกล้าปลูกหรือถอนแยก ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 20-30 กิโลกรัม/ไร่
การเก็บเกี่ยว – อายุการเก็บเกี่ยวของแตงกวาจะอยู่ที่ 30-40 วัน แล้วแต่พันธุ์ เก็บในขณะผลยังอ่อน เนื้อแน่นกรอบ มีนวลสีขาวเกาะและยังมีหนามติดที่ผลอยู่บ้าง ควรเก็บเกี่ยวทุกวันหรือวันเว้นวันแล้วแต่พันธุ์และการจัดกร เพื่อไม่ให้หลุดขนาดที่ตลาดต้องการ เนื่องจากผลแตงนั้นโตไว หากปล่อยไว้นานจะแก่จัด ตกเกรด ขายไม่ได้ราคา สามรถเก็บผลผลิตได้นาน 1 เดือน
เรียบเรียงโดย : Admin – Minyada
———————————
แหล่งอ้างอิง :
https://esc.doae.go.th/wp-content/uploads/2018/11/Cucumber.pdf
https://www.moc.go.th/index.php/rice-iframe-4.html
http://www.agriinfo.doae.go.th/year62/plant/rortor/veget/24.pdf